บทบรรณาธิการ

ปีนี้วาระการรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 อาจไม่โดดเด่นนักเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ 6 ตุลาที่เวียนมาครบรอบ 40 ปี

อย่างไรก็ตาม วันครบรอบ 43 ปี 14 ตุลา ปีนี้ยังคงมีความสำคัญในการรำลึกและทบทวนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย โดยเฉพาะความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เกิดขึ้นใน 3 ปีต่อมา

14 ตุลา เป็นปฐมบทของความรุนแรงที่เกิดจากการปะทะทางความคิดและอำนาจของกลุ่มคนในประเทศ

ระหว่างการรวบอำนาจในกลุ่มชนชั้นปกครอง กับการเรียกร้องให้เกิดการ กระจายอำนาจสู่ความเท่าเทียมของคนในสังคม

ในบันทึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลาเป็นเหตุการณ์ที่มีนักศึกษาและประชาชนมากกว่า 5 แสนคนชุมนุมเผชิญหน้ากับรัฐบาลในเมืองหลวง และมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมือง

เป็นการลุกฮือที่เกิดจากปัญหาต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมในการบริหารราชการทั้งของรัฐบาลและคนในกองทัพ ทั้งการทุจริต ใช้อำนาจในทางมิชอบ และเอารัดเอาเปรียบผู้คน สะสมมาเป็นเวลานาน

ตามมาด้วยความพยายามปกปิดและปิดกั้นการแสดงความเห็นของเหล่านักศึกษาและประชาชน

กระทั่งเป็นคำสั่งใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม ในวันที่ 14 ต.ค.2516 มีผู้เสียชีวิตกว่า 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก

การลงเอยของเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ทำให้ผู้นำรัฐบาลในตอนนั้นต้องเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้เกิดบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างคึกคักในช่วงสั้นๆ

โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ซึ่งมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประชาชนกลุ่มต่างๆ นำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2518

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวยังคงเป็นการปะทะระหว่างอำนาจและความคิดของคนในสังคมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาค

3 ปีหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลากลายเป็นช่วงของการปลุกระดม ใช้โฆษณาชวนเชื่อ และยุทธวิธีต่างๆ ให้คนในสังคมเกลียดชังกลุ่มนักศึกษาและหวาดผวาแนวคิดสังคมนิยม

จนเป็นที่มาของการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มความโหดเหี้ยมในเหตุการณ์ 6 ตุลา

ทั้งตอกย้ำว่าการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการนั้นยังมีอีกยาวไกล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน