วันที่ 11 กันยายนเคยเป็นวันที่เกิดเหตุสะท้านสะเทือนโลกครั้งใหญ่เมื่อปี 2544 จากการก่อวินาศกรรมในแผ่นดินอเมริกาด้วยรูปแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ผู้ก่อการร้ายที่ต่อมาระบุว่าเป็นสมาชิกเครือข่าย อัล ไคด้า จี้เครื่องบิน 4 ลำพุ่งชนอาคารสำคัญ ที่เป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมและประชาธิปไตย

2 ใน 4 ชนตึกแฝดเวิลด์เทรดในนครนิวยอร์กถล่มลงมาทั้งสองอาคาร อีกลำพุ่งใส่พื้นที่ตึก เพนตากอน อาคารกระทรวงกลาโหมในกรุงวอชิงตัน และอีกลำพลาดเป้าหมายรัฐสภาไป ตกที่เพนซิลเวเนีย รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 ราย

การเริ่มต้นของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายจากเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อสังคมโลกรวมถึงไทยอย่างใหญ่หลวง

นอกเหนือจากการไล่ปราบปรามผู้ก่อการร้าย สิ่งที่เขย่าสังคมโลกครั้งใหญ่หลังจากนั้นคือการใช้อำนาจพิเศษของรัฐ

เป็นการใช้อำนาจพิเศษด้วยข้ออ้างเพื่อความมั่นคงความปลอดภัยของตนเพื่อเอาชนะผู้ก่อการร้าย แต่กลายเป็นตัวบั่นทอนความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

โดยเฉพาะการตั้งตนของกลุ่มคนที่อ้างคุณธรรมและความสามารถในการจัดการเหนือคนกลุ่มทั่วไปเพื่อจะกำหนดนโยบาย แนวทางสังคมอย่างที่ตนเองต้องการ

ประเทศไทยในปี 2544 เพิ่งมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องสิ้นสุดลงในปี 2549 ด้วยการตั้งตนของกลุ่มคนนิยมอำนาจพิเศษเช่นนี้

อิทธิพลของการใช้อำนาจพิเศษยังคงส่งผล ต่อเนื่องในสังคมไทยและก่อให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางสังคมและการเมืองมาเป็นระยะ

นอกเหนือจากในพื้นที่แตกต่างด้านศาสนา และวัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนใต้ ยังเกิด เหตุสังหารผู้คนกลางเมืองหลวงในปี 2553 ด้วย ข้ออ้างด้านความมั่นคงและข้อกล่าวหาเรื่องผู้ก่อการร้าย

ความนิยมในอำนาจพิเศษยังขัดขวางพัฒนาการทางประชาธิปไตย จากที่ประชาชนต้องเป็น ผู้คัดเลือกและลงโทษนักการเมืองด้วยตนเอง กลายเป็นการจัดการของคณะบุคคลที่ไม่ใช่ตัวแทนจากประชาชน

วันที่ 11 กันยาฯ จึงไม่เพียงเป็นวันรำลึกถึงเหตุก่อการร้าย แต่ยังน่าทบทวนถึงผลกระทบใน 16 ปีที่ผ่านมาด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน