พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในโลกขณะทรงมีพระชนมชีพอยู่ และยาวนานที่สุดในประเทศไทย รวมเวลา 70 ปี ทรงเป็นที่รักยิ่งและเทิดทูนของประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 ในราชสกุลมหิดลอันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470

เหตุที่พระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น

ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่สามในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในกาลต่อมา) และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ตะละภัฏ, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในกาลต่อมา)

มีพระนามเมื่อแรกประสูติอันปรากฏในสูติบัตรว่า เบบี สงขลา (Baby Songkla) ต่อมาคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช เมื่อได้รับพระราชทานนาม มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยา ณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหา อานันทมหิดล ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์ว่า “เล็ก”

p0103141059p1

พระนาม ภูมิพล ภูมิ หมายความว่า “แผ่นดิน” และ พล หมายความว่า “พลัง” รวมกันแล้วหมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน” อดุลยเดช – อดุลย หมายความว่า “ไม่อาจเทียบได้” และ เดช หมายความว่า “อำนาจ” รวมกันแล้วหมายถึง “อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้”

เมื่อ พ.ศ. 2471 เสด็จกลับสู่ประเทศไทยพร้อมพระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุไม่ถึงสองพรรษา

เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 4 พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยจนถึงเดือนพฤษภาคม 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช

จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ “โรงเรียนแห่งใหม่ของซืออีสโรมองด์” เมืองแชลลี-ซูร์-โลซาน

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช” เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้โดยเสด็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นเวลา 2 เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จฯกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึง พ.ศ. 2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ จากโรงเรียนยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิทยาศาสตร์ โดยเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

ครั้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต คณะรัฐมนตรีมีมติให้กราบบังคมทูลอัญเชิญ สมเด็จพระเจ้าน้อง ยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้น ครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”

ในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ คณะรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จะทรงบรรลุนิติภาวะ ทั้งยังทรงมีภารกิจในการศึกษาต่อ เสด็จฯกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 และเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซาน ในสาขาวิชารัฐศาสตร์แทนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เนื่องด้วยทรงคำนึงถึงพระราชภารกิจในการปกครองประเทศเป็นสำคัญ

ระหว่างที่ประทับอยู่ต่างประเทศนั้น ทรงหมั้นกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ-กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสขึ้นในปี พ.ศ. 2493 และสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

ทรงเข้าพิธีพระบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังจากพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทำการรักษาพระสุขภาพอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตามคำแนะนำของแพทย์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ และทรงนิวัตกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2494

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระโอรสและพระราชธิดารวม 4 พระองค์ ได้แก่ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระภัทรมหาราช” หมายความว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง” ต่อมาในปี 2539 มีการถวายใหม่ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” และ “พระภูมิพลมหาราช” ประชาชนทั่วไปเรียกพระองค์ว่า “ในหลวง” ซึ่งคาดว่าย่อมาจาก ใน (พระบรมมหาราชวัง) หลวง หรืออาจออกเสียงเพี้ยนมาจากคำว่า “นายหลวง” ซึ่งแปลว่า เจ้านายผู้เป็นใหญ่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงออกผนวช ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงเกื้อกูลค้ำจุนทุกศาสนาอย่างเสมอภาค ทรงจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ

นอกจากนี้ยังเสด็จฯเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญที่สุดจนทำให้พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญในประเทศไทยและทั่วโลก

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ จอมทัพไทย และอัครศาสนูปถัมภก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่เหนือการเมือง แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่จะตรัสถึงการเมืองเล็กน้อยในบางโอกาส ทรงมีบทบาททางการเมืองอยู่บ้าง เห็นได้จากทรงมีพระบรมราชโองการเรียกพลเอก สุจินดา คราประยูร และหัวหน้ากลุ่มผู้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเข้าเฝ้าฯ นำไปสู่การคลี่คลายในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535

ทรงมีพระปรีชาสามารถในศาสตร์หลายด้าน ทั้งการดนตรี กีฬา การถ่ายภาพ แผนที่ภูมิศาสตร์ การพักผ่อนที่สนพระราชหฤทัยคือการเสด็จฯไปประทับ ณ วังไกลกังวล และสุนัขทรงเลี้ยง ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือคุณทองแดง สุนัขพันธุ์ไทยซูเปอร์บาเซนจิ

พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญในประเทศไทยเกี่ยวกับพระราชดำริในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระองค์ กับทั้งพระองค์ยังทรงเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ กังหันน้ำชัยพัฒนา งานพระราชนิพนธ์ และงานดนตรีจำนวนมาก ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ไปในโครงการพัฒนาประเทศไทยหลายต่อหลายโครงการ โดยเฉพาะในทางเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ ทรัพยากรน้ำ สวัสดิการทางคมนาคม และสวัสดิการสาธารณะ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมาก ตัวอย่างโครงการที่สำคัญ เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้, มูลนิธิโครงการหลวง เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น,

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อศึกษา ทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆ, โครงการแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย หลังเกิดอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2538 โดยให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว, โครงการฝนหลวง, โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน, โครงการแกล้งดิน, กังหันชัยพัฒนา

p0103141059p3

ในด้านการต่างประเทศ ทรงสร้างความสัมพันธ์กับนานาประเทศด้วยดีเสมอมา ตลอดระยะเวลาของการขึ้นครองราชย์ ระหว่างปี 2502-2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา รวม 27 ประเทศ เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรีกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้นให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพื่อนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยไปมอบให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ

จากนั้นในเดือนมีนาคม 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศลาว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งนับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากที่ว่างเว้นมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี

ตลอดช่วงเวลาทรงงาน ทรงต้อนรับราชอาคันตุกะจากประเทศต่างๆ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย รวมถึงพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ปีพ.ศ.2549 ที่มีพระราชอาคันตุกะเป็นพระประมุขจากนานาประเทศ 25 ประเทศ

ขณะเดียวกันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้บรรดาทูตานุทูตเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสาส์นตราตั้งในการเข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทย และถวายบังคมทูลลาเมื่อครบวาระ อีกทั้งมีทั้งพระราชสาส์นแสดงความยินดี และพระราชสาส์นแสดงความเสียใจ ในโอกาสต่างๆ ที่เกิดขึ้น นับเป็นการสร้างและกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ

อย่างเช่นเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำของประเทศมหาอำนาจอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา คือการแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชสาส์นถึงนายบารัก ฮุสเซน โอบามา ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 44 โดยมีข้อความว่า

“ในโอกาสที่ท่านเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้ามีความยินดีขอส่งคำอวยพรและความปรารถนาดีอย่างจริงใจมา เพื่อท่านประธานาธิบดีประสบความสำเร็จและความสุขสวัสดิ์ ทั้งเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประชาชน และความรุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่งขึ้นของสหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างประเทศและประชาชนของเราทั้งสองจะกระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไปในภายภาคหน้า”

ในด้านพระพลานามัย นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มประชวร พระองค์แปรพระราชฐานจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปโรงพยาบาลศิริราช อันเนื่องมาจากพระโรคไข้หวัดและพระปัปผาสะอักเสบในเดือนตุลาคม

วันที่ 20 กันยายน 2552 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 1 ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระปรอท (เป็นไข้) และมีพระอาการอ่อนเพลีย ตลอดจนเสวยพระกระยาหารได้น้อยลง คณะแพทย์จึงได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อตรวจหาสาเหตุ พร้อมกับถวายการรักษาด้วยน้ำเกลือทางหลอดพระโลหิต ร่วมกับยาปฏิชีวนะ พระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยสำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์อย่างต่อเนื่องถึง 34 ฉบับ

วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 36 ว่าทรงมีภาวะน้ำไขสันหลังในพระโพรงพระสมองมากกว่าปกติ คณะแพทย์กำหนดการถวายการรักษาในคืนวันนี้ ส่วนผลการตรวจต่างๆ ในระบบอื่นอยู่ในเกณฑ์ปกติ

วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากที่ประทับชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ประทับรถยนต์พระที่นั่ง แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นพ.อุดม คชินทร แถลงว่า ขณะนี้ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระพลานามัยดีมาก ทำให้ทรงมีพระราชดำริอยากไปประทับที่วังไกลกังวล เพื่อเปลี่ยนพระอิริยาบถ

วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 18.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งจากวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะแพทย์ตรวจพระวรกายตามคำกราบบังคมทูลของคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา การนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จด้วย กระทั่งเวลา 20.42 น. รถยนต์พระที่นั่งถึงยังโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทย์พบว่า อุณหภูมิพระวรกาย การหายพระหทัย ความดันพระโลหิต เป็นปกติ เช่นเดียวกับพระอุระ พระปัปผาสะ (ปอด) และภาวการณ์ทำงานของพระหทัยอยู่ในเกณฑ์ปกติ วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557 สำนักพระราชวังได้แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯประทับรถตู้พระที่นั่ง จากที่ประทับ ณ วังไกลกังวล กลับเข้าสู่โรงพยาบาลศิริราช อีกครั้ง เบื้องต้นพระองค์ทรงมีพระปรอท (ไข้) คณะแพทย์ถวายการรักษาดูแลใกล้ชิด

ภายหลังคณะแพทย์ถวายการรักษาใกล้ชิด พระอาการดีขึ้นเป็นลำดับ และเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 สำนักพระราชวังแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเพื่อมาตรวจพระวรกายของคณะแพทย์ ผลการตรวจพบว่าพระโลหิต อุณหภูมิพระวรกาย ความดันพระโลหิตพระหทัย และระบบการหายพระทัยเป็นปกติ

กระทั่งในเดือนสิงหาคม – กันยายน ปี พ.ศ. 2559 สำนักพระราชวังแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอาการพระปัปผาสะ (ปอด) อักเสบ หายพระทัยเร็ว มีพระเสมหะมาก มีน้ำคั่งในช่องเยื่อหุ้มพระปัผาสะ (ปอด) ปริมาณพระบังคนเบา (ปัสสาวะ) น้อย คณะแพทย์ฯ ถวายการรักษาด้วยวิธี CRRT พระโอสถปฏิชีวนะ และเฝ้าติดตามการทำงานของพระวักกะ (ไต) อย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2559 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 37 ว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานว่า ในวันที่ 8 ตุลาคม 2559 คณะแพทย์ฯ ได้ขอพระราชทานถวายใส่สายสวนเข้าหลอดพระโลหิตดำ เพื่อเตรียมการสำหรับการฟอกพระโลหิต (Hemodialysis) ระยะยาว และเปลี่ยนสายระบายน้ำไขสันหลังในโพรงพระสมองบริเวณบั้นพระองค์ (เอว) ตั้งแต่เวลา 14 นาฬิกาถึง 16 นาฬิกา 40 นาที ปรากฏภายหลังว่า มีความดันพระโลหิตลดต่ำลงเป็นครั้งคราว คณะแพทย์ฯ จึงได้ถวายพระโอสถ และได้ใช้เครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) เพื่อทำให้ความดันพระโลหิตกลับสู่ระดับปรกติ จนกระทั่งเวลา 3 นาฬิกา วันนี้ มีพระชีพจรเร็วขึ้น ความดันพระโลหิตลดลง ผลการตรวจพระโลหิต พบว่าพระโลหิตมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น ผลการตรวจพระหทัยด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiography) พบว่ามีปริมาณพระโลหิตที่เข้าสู่พระหทัยด้านซ้ายช่องล่างลดลงมาก อันเป็นผลจากการที่มีความดันพระโลหิตในพระปัปผาสะ (ปอด) สูง คณะแพทย์ฯ ได้ถวายพระโอสถขยายหลอดพระโลหิตในพระปัปผาสะ (ปอด) เมื่อเวลา 15 นาฬิกา ทำให้พระชีพจรเริ่มลดลง และความดันพระโลหิตดีขึ้น คณะแพทย์ฯ ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้งดพระราชกิจ

ต่อมา ในแถลงการณ์ฉบับที่ 38 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ความว่า วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ความดันพระโลหิตลดต่ำลงอีก พระชีพจรเร็วขึ้น ร่วมกับภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นอีก ผลของการถวายตรวจพระโลหิตบ่งชี้ว่า มีภาวะการติดเชื้อและการทำงานของพระยกนะ (ตับ) ผิดปรกติ คณะแพทย์ฯ ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะและแก้ไขภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรด ตลอดจนถวายพระโอสถควบคุมความดันพระโลหิตเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งถวายเครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) และถวายการรักษาด้วยวิธีทดแทนไต (CRRT) พระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ ต้องควบคุมด้วยพระโอสถ คณะแพทย์ฯ ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด

กระทั่งเวลา 18.47 น. วันที่ 13 ต.ค. 2559 สำนักพระราชวังประกาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลา ธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต ความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2557 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น

แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี”

p0104141059p1 p0104141059p3

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน