บทบรรณาธิการ

กรณีกองทัพยุติการใช้งานเรือเหาะ มูลค่าการจัดซื้อรวม 350 ล้านบาท เมื่อปี 2552 บวกค่าจ้างบริษัทมาซ่อมบำรุงปีละ 50 ล้านบาท เกิดคำถามเรื่องความไม่คุ้มค่านั้นเป็นบทเรียนสำคัญหนึ่ง

เช่นเดียวกับกรณีชาวบ้านห้วยเม็ก ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น คัดค้านการเช่าพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์ของบริษัทเอกชน แต่เสียงและลายเซ็นการลงนามคัดค้านของชาวบ้านกลับมาถึงกระทรวงมหาดไทยด้วยข้อสรุปว่าไม่มีปัญหา

ทั้งสองกรณีมีจุดสะท้อนคล้ายกันในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อตรวจสอบการทำงานของฝ่ายราชการ ยังขาดกลไกทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ

เป็นกลไกของวิถีประชาธิปไตยที่จะช่วยทำให้ทุกอย่างเปิดเผย โปร่งใสและตรงไปตรงมายิ่งขึ้น

แม้ช่วงเวลานี้รัฐบาลมุ่งสนใจเรื่องอีอีซี การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และเรื่องยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งใจจะให้ยาวนาน 20 ปี แต่คงไม่ใช่เหตุผลสำหรับการมองข้ามปัญหาและบทเรียนในอดีต

เพราะโครงการใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้นย่อมกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก

จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก ทั้งในระดับการตัดสินใจและการตรวจสอบ

กระบวนการดังกล่าวนี้ไม่ควรถูกมองว่าจะขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคที่จะชะลอการพัฒนา ตรงกันข้ามจะเป็นการพัฒนาทางสังคมและการเมืองที่จะผลักดันเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

แทนที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายราชการจะคิดเห็นเองและจัดงบประมาณเองฝ่ายเดียว

บทเรียนจากกรณีเรือเหาะก็คือการผลักดันให้มีการจัดซื้อโดยไม่ศึกษาความคุ้มค่าให้ชัดเจน ทั้งที่มีเสียงทัดทานตั้งแต่แรกเริ่ม

ส่วนกรณีเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่สาธารณะห้วยเม็กก็สะท้อนว่าวิธีจัดทำรายงานประชาคมนั้นมีปัญหาไม่ตรงข้อเท็จจริง หรือไม่ได้ฟังเสียงชาวบ้านอย่างแท้จริง

โครงการอีอีซีหรือการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่แค่เรื่องจัดทำแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผ่านขั้นตอนทางราชการเท่านั้น

แต่เป็นการกำหนดอนาคตร่วมกันของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน