ความพยายามต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ตายและญาติเหยื่อในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 2553 กำลังเป็นส่วนหนึ่งที่ท้าทายวัฒนธรรมการสยบยอมที่ฝังอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน

การสยบยอมดังกล่าวนี้มักถูกอ้างให้เห็นแก่การปรองดอง หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง หรือถูกเกลี้ยกล่อมว่าไม่ควรเดินหน้าสู้ต่อไปในเป้าหมายที่สู้ไม่ได้

แต่การเดินหน้าสู้ของกลุ่มญาติ กลุ่มสนับสนุน ทนายและนักกฎหมายเป็นส่วนสำคัญที่บอกว่า กรณีนี้จะปล่อยผ่านหรือสยบยอมกันไม่ได้

เพราะจะเป็นตัวอย่างและบทเรียนสำหรับอนาคตสำหรับการเมืองและสังคมไทยร่วมกันที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่นำไปสู่ความสูญเสีย

ขณะเดียวกันการต่อสู้กับวัฒนธรรมการสยบยอมนั้นควรขยายออกไปในทุกวงการเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมของมนุษย์

ในขณะนี้รวมถึงกรณีการล่วงละเมิดทางเพศสตรีที่มีเสียงครหาในอาชีพสื่อมวลชน หลังจากกลุ่มและบุคคลด้านสิทธิสตรีเรียกร้องว่าจะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดเพื่อพิสูจน์ทราบความจริง

การปกป้องผู้ที่อาจเกี่ยวข้องด้วยการอ้างคุณงามความดี หรือด้วยความเชื่อส่วนตัวในการตัดสินคนดีนั้นไม่เป็นเหตุเป็นผล

เช่นเดียวกับการใช้กลไกและข้อกฎหมายเพื่อขัดขวางหรือปิดกั้นการตรวจสอบก็ไม่เป็นผลดีกับทั้งผู้ถูกครหาและกับองค์กรสื่อ

ในเมื่อสถาบันหรือองค์กรสื่อแสดงตัวยึดมั่นในความดี จึงสมควรต้องแสดงถึงการยึดถือมาตรฐานทางจริยธรรม

ประเด็นที่ต้องหาคำตอบให้ชัดเจนในเรื่องนี้ คือมีการล่วงละเมิดเกิดขึ้นจริงหรือไม่ มีการใช้สถานะเหนือกว่าที่ทำให้ผู้หญิงต้องสมยอมหรือได้รับผลกระทบทางจิตใจและร่างกายจริงหรือไม่

ถ้าไม่มีผู้ตกเป็นข่าวจะได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้อย่างชัดเจน แต่ถ้ามีจะใช้บทลงโทษอย่างไรกับผู้กระทำ และจะใช้มาตรการเยียวยาเหยื่อหรือไม่อย่างไร

หากตระหนักถึงสิทธิและความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงอย่างแท้จริง จะต้องร่วมกันยุติวัฒนธรรมการสยบยอม

เพราะจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปกปิดความจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน