แผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มีความคืบหน้าอีกขั้น

เมื่อร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …(อีอีซี) ปรับปรุงตามมติครม.เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2560 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว

มีสาระสำคัญในการปรับปรุงกฎหมาย เช่น การกำหนดขอบเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ไปจนถึงการตั้งคณะกรรมการอีอีซีในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายอีอีซี คอยจัดหาที่ดินตามที่คณะกรรมการอีอีซีกำหนด

จากนี้ไปเมื่อเข้าสู่การพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายใน 4-5 เดือน

ความรวดเร็วในการออกกฎหมายนี้เป็น ความพิเศษที่ได้จากช่วงเวลาของการมีฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติพิเศษ นับจากเหตุรัฐประหาร 2557

เห็นได้จากเนื้อหาของกฎหมายที่ให้สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นของคนต่างด้าวที่ประกอบกิจการและอาศัยอยู่ในอีอีซี ตามหลักเกณฑ์การเช่าที่ดิน 50 ปี และต่อสัญญาได้อีก 49 ปี

สิทธิในการนำคนต่างด้าวผู้ชำนาญการมาอาศัยในราชอาณาจักร สิทธิในการลดหย่อนอากร สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน ฯลฯ

หากเป็นช่วงเวลาปกติการถกเถียง ในเรื่องนี้น่าจะต้องเข้มข้นและต้องการความเห็นที่หลากหลายและรอบด้าน เพื่อคำนวณผลกระทบทั้งบวกและลบ

แม้ว่าเป็นข้อดีของการบริหารงานช่วงนี้เป็นผลดีต่อภาคเอกชนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ แต่ก็เป็นจุดที่ต้องระวังไม่ให้ผลประโยชน์กระจุกอยู่ในกลุ่มผู้ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ

แม้กฎหมายกำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนา อีอีซี ในสำนักงานคณะกรรมการนโยบายอีอีซี เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่อีอีซี แต่ในทางการบังคับใช้ต่อรองและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบยังต้องอาศัยเวลาและขั้นตอนตามระบบราชการ

รัฐบาลที่จะรับช่วงต่อไปคงต้องพร้อมรับการบ้านนี้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน