บทบรรณาธิการ

การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 ไม่เพียงต้องพยายามผลักดัน ให้เกิดกระบวนการเอาผิดผู้รับผิดชอบไปจนถึงการเยียวยา ยังต้องรวมถึงการแสดงข้อมูลข้อเท็จจริงด้วย

เนื่องจากยังมีความพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดในรายละเอียดของเหตุการณ์ รวมถึงยังฝังลึกอยู่ในความเกลียดชังและอคติ

จึงยังคงมีถ้อยคำใส่ร้าย โยนความผิด และหลีกเลี่ยงการรับรู้ในข้อเท็จจริงอยู่โดยยกข้อมูลเก่าหรือข้อมูลเลื่อนลอยที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

แม้จะเป็นเรื่องกระทบจิตใจและซ้ำเติมญาติผู้สูญเสีย

กรณีของผู้เสียชีวิต 6 ศพที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เป็นเรื่องที่มีข้อมูลชัดเจนจากคำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้

ชี้ว่าทั้งหกเสียชีวิตจากกระสุนความเร็วสูงและมีวิถียิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมวนาราม

ผู้ตายทั้งหกไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน

การตรวจยึดอาวุธในวัดไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว

ศาลมีคำสั่งให้นำคำสั่งนี้ส่งต่อให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินการต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150

ด้วยความชัดเจนของคำสั่งศาลที่ผ่านการพิสูจน์ตามขั้นตอนสำคัญนี้จึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏแล้ว

แตกต่างจากข้อคิดเห็นหรือการจินตนาการ รวมไปถึงข้อมูลป้ายสี

โดยเฉพาะในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ที่ยังมีวาทกรรมชายชุดดำ การซ่องสุมอาวุธ หรือการเผาบ้านเผาเมือง มาใช้เหมารวมในสถานการณ์ทั้งหมดและทำให้เกิดการบิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะด้วยเป้าหมายหรือผลประโยชน์ใด

ผลการพิสูจน์ทราบเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคมที่มีความขัดแย้ง ซึ่งต้องยึดเหตุผลและการค้นหาข้อเท็จจริง เป็นหลักเพื่อนำไปสู่ข้อยุติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน