คํายืนยันของรัฐบาลในเรื่องตรวจสอบและปราบปรามการคอร์รัปชั่น โดยจะไม่ปล่อยให้คนทุจริตลอยนวลนั้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องดีที่ผู้คนต่างสนับสนุน

เพียงแต่ต้องกระทำให้ชัดเจนเป็นระบบ ครอบคลุมและต่อเนื่อง

ไม่ให้เกิดว่าทำเป็นครั้งคราว ทำบางคน หรือทำเฉพาะกรณีผู้มีชื่อเสียง หรือตำแหน่งหน้าที่สูง เพื่อไม่ให้เสี่ยงถูกมองว่า มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น

ยิ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงมีจุดอ่อนในเรื่องกระบวนการตรวจสอบจากฝ่ายค้าน และการเชื่อมโยงกับประชาชน

กรณีเมื่อเร็วๆ นี้เป็นเรื่องการระบายข้าวกรณีที่มีบริษัทเอกชนประมูลข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ จำนวนหกหมื่นกว่าตัน และระบุจะไปทำเป็นปุ๋ย แต่ต่อมานำข้าวไปขายต่อ เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน

เนื่องจากมีข้อมูลทักท้วงแล้วว่าสภาพของโรงงานและโกดังที่จัดเก็บไม่มีความสามารถ ในการผลิตปุ๋ยแต่แรก จึงน่าจะผิดสัญญาและเกิดปัญหานำข้าวไปเวียนขาย เท่ากับทำให้รัฐเสียหาย

การตรวจสอบเรื่องข้าวต้องทำให้จริงจัง และเปิดเผยในทุกกรณีที่เกิดข้อครหา โดยเฉพาะเมื่อเคยเกิดคดีใหญ่ที่เอาผิดคณะบุคคลในรัฐบาลก่อนจนมีการตัดสินโทษขั้นร้ายแรงมาแล้ว

อีกทั้งยังเป็นคดีที่ยังเชื่อมโยงไปถึงการเอาผิดในด้านนโยบายของรัฐบาลโดยรวม

นอกเหนือจากเรื่องข้าวยังมีกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายราชการ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ไปจนถึงกองทัพที่ต้องอาศัยการตรวจสอบ ทั้งในส่วนการจัดซื้อจัดจ้าง ไปจนถึงประเด็นความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ

ขณะที่หลายเรื่องไม่ได้ผ่านมายังศูนย์บริการประชาชน ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ หรือ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐภายในหน่วยทหาร ซึ่งเป็นกลไกของระบบราชการ

การมีกลไกทางการเมืองผ่านระบบตัวแทนประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติควบคู่กันไปยังคงเป็นเรื่องจำเป็น

อีกทั้งยังเป็นระบบและกลไกการ ตรวจสอบซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน