คําตัดสินจำคุกน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปีโดยไม่รอลงอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง เป็นสิ่งที่จะต้องเคารพและปฏิบัติตาม

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยในทางวิชาการและในทางสังคมอีกหลายประการ ที่จะต้องช่วยกันทำให้เกิดความกระจ่าง

อาทิ ถ้า ป.ป.ช. หรือองค์กรตรวจสอบ สามารถทัดทานนโยบายรัฐบาลได้ และท้ายที่สุด คำทักท้วงทัดทานนั้นกลายเป็นหลักฐานเบื้องต้น ในการเอาผิดตามกฎหมายได้

ต่อไปรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีเส้นสายหรือความสัมพันธ์กับองค์กรเหล่านี้ที่ไหน

จะกล้าเสนอนโยบายต่อประชาชน

ผลต่อเนื่องก็คือ หากรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่มีความหมาย ก็เท่ากับเสียงของประชาชนจากการเลือกตั้งไม่มีความหมาย

ในสภาพเช่นนี้ สังคมยังจะสามารถเรียกตัวเองว่าอยู่ในระบอบประชาธิปไตยได้อีกหรือไม่ ก็ยังเป็นข้อสงสัย หรือถึงจะเรียกตัวเองว่า อยู่ในระบอบประชาธิปไตย สมาชิกในสังคมของตนเองหรือสังคมอื่นคิดว่าคนอื่นจะเชื่อถือตามนั้นหรือไม่

เพราะเมื่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งและเสียงประชาชนไม่มีความหมาย ก็แปลว่าสังคมอยู่ภายใต้การกำกับชี้นำของเสียงหรือการตัดสินใจของคนส่วนน้อย

สภาพพีระมิดกลับหัวเช่นนี้จะถือว่าเป็นความมั่นคง หรือจะยั่งยืนยาวนานไปได้เพียงไหน

นอกจากนั้นแล้ว การฉุดดึงเอาแทบทุกสถาบันของสังคมเข้ามาเพื่อจุดประสงค์ในการทำลายล้างหรือเอาชนะกันในทางการเมือง อีกด้านก็เป็นการทำลายคุณค่าและความชอบธรรมขององค์กรหรือสถาบันนั้นๆ ให้หมดหรือลดลงๆ ไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าห่วงอย่างยิ่ง ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาของสังคมไทย

กรณีล่าสุดจากคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้านหนึ่งเป็นการขมวดปมของปัญหาเก่า และ เปิดฉากของปัญหาที่อาจจะขยายเป็นวิกฤต รอบใหม่

หากชนชั้นนำจำนวนหนึ่งยังเชื่อในวิธีการ-กระบวนการจัดการอำนาจแบบเดิม โดยไม่เห็นวิวัฒนาการของสังคม ทั้งปัญหาของวัย ของวิทยาการ

และความเหลื่อมล้ำทั้งเศรษฐกิจและสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน