เหมือนกับว่าคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน และจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

จะมาจากที่ประชุม”คสช.”

เป็นเช่นนั้นจริง เพราะว่าการประชุมคสช.เกิดขึ้นในตอนเช้าก่อนการประชุมครม.และก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกมาแถลงในตอนบ่ายของวันที่ 10 ตุลาคม

แต่หาก “สอบค้น”ไปยัง”รายละเอียด”

ข้อกำหนดต่างๆของการประกาศวันเลือกตั้งและเดือนที่จะต้องเลือกตั้งก็มาจากรายงานของ นายวิษณุ เครืองาม

ถามว่า แล้ว นายวิษณุ เครืองาม ทำรายงานจากอะไร

คำตอบก็คือ จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

หากติดตาม “ท่าที” ไม่ว่าจะของ 1 คสช. ไม่ว่าจะของ 1 รัฐบาล ไม่ว่าจะของ 1 กรธ. ไม่ว่าจะของ 1 สนช.

ล้วนอ้ำๆอึ้งๆต่อกระบวนการ”เลือกตั้ง”

แม้จะอ้าง “รัฐธรรมนูญ” แม้จะอ้างระยะเวลา 240 วัน 30 วันหรือ 150 วัน

แต่ก็ไม่ยอมระบุหรือ”กำหนด”เวลาอย่างแจ้งชัด

ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแสดงท่าทีผ่าน”ปฏิญญา ทำเนียบขาว”เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม

แต่เมื่อถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็อ้ำๆอึ้งๆ

และเมื่อถาม นายวิษณุ เครืองาม ตลอดกระทั่ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ไม่สามารถให้ความแจ่มชัดได้

แล้วความแจ่มชัดเกิดขึ้นได้อย่างไรในวันที่ 10 ตุลาคม

เหมือนกับแรงกระตุ้น 1 มาจากการนำเอา”ถ้อยคำ”ที่ปรากฏผ่านแถลงข่าวร่วมสหรัฐ-ไทย

โดยเฉพาะจากข้อ 8 ที่มีการกำหนดเวลา

เหมือนกับแรงกระตุ้น 1 มาจากนักการเมือง พรรคการเมืองต่างๆที่เรียกร้องต้องการ “การเลือกตั้ง”

แต่เอาเข้าจริงๆ “รัฐธรรมนูญ”ต่างหาก คือ ตัวกำหนด

เพียงแต่แต่ละองคาพยพใน 1 คสช. 1 รัฐบาล 1 กรธ. 1 สนช. พยายามอ่านใจ”แป๊ะ”ว่ายังไม่ต้องการ”การเลือกตั้ง” ความไม่แน่นอนจึงดำรงอยู่

ทั้งๆที่หากปฏิบัติตาม”รัฐธรรมนูญ”ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน