นับจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติแจ้งกำหนดระยะเวลาเลือกตั้งที่จะมีขึ้นประกาศออกมาแล้วว่าเป็นเดือนพฤศจิกายน 2561

นอกจากอยู่หลังช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในเดือนตุลาคมแล้ว ยังใช้เวลาเกิน 4 ปีนับจากการรัฐประหารในการเดินไปตามเส้นทางโรดแม็ปทางการเมือง

เป็นช่วงเวลาที่มีคณะบุคคลมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายที่ปรึกษาพิเศษ และอีกหลายฝ่ายที่คอยจัดการคิดและทำเรื่องต่างๆ แทนประชาชนมากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ไปจนถึงเรื่องปฏิรูปและการวางยุทธศาสตร์

ล้วนเป็นแผนงานที่มีผลต่อเนื่องและยาวนานเกินจากเดือนพฤศจิกายน 2561

การกำหนดเดือนและปีของการเลือกตั้งล่าสุดนี้ ช่วยทำให้ภาพของโรดแม็ปที่ประกาศไว้ต่อคนในประเทศและการเฝ้ามองของนานาประเทศชัดเจนขึ้น

แม้จะเป็นไปตามขั้นตอนและกำหนดเวลาที่มีอยู่แล้ว นับจากกฎหมายลูก 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในเดือนพฤศจิกายน 2560

จากนั้นเป็นขั้นตอนการพิจารณาตามกรอบเวลาอีก 3 เดือน ตามด้วยขั้นตอนทางธุรการอีก 3 เดือน จึงจะเข้ากรอบเวลาในเดือนมิถุนายน 2561 ที่ประกาศวันเลือกตั้งได้

เมื่อนับจากวันดังกล่าวจะใช้เวลาตามกฎหมายอีก 150 วัน ทำให้วันเลือกตั้งอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561

เป็นช่วงเวลาที่ทอดยาวไปจากที่คาดคะเนว่าจะใช้เวลา 18 เดือนในการฟื้นฟูประชาธิปไตยนับจากเดือนพฤษภาคม 2557

ช่วงเวลาจัดแจงโรดแม็ปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บวกกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตีกรอบอำนาจผู้แทนซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ทำให้ขั้นตอนของการฟื้นฟูประชาธิปไตยทอดยาวออกไปด้วย และจะเป็นที่จับตาของนานาประเทศอย่างยิ่งในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง

โดยเฉพาะประเทศที่ระงับข้อตกลงด้านเศรษฐกิจและการเมืองกับไทยไว้

ข้อพิสูจน์ว่าการฟื้นฟูประชาธิปไตยผ่านระบบการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับเนื้อหาของกฎหมายลูกที่จะผ่านการพิจารณาของสนช.ด้วย

ว่าจะเปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน