นับจากเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงในกรุงเทพมหานคร ข่าวลือเรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล มักปรากฏเป็นระยะ

หน่วยงานของรัฐ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมชลประทาน และทำเนียบรัฐบาลต่างปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว พร้อมชี้แจงข้อมูลและตัวเลขการระบายน้ำ

เช่น กรณีของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ หยุดการระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2560 ตามมติของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ

พร้อมระบุถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของทั้งสองเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 69 และร้อยละ 84

จึงกักเก็บน้ำเพิ่มได้อีกสำหรับการอุปโภคบริโภคและการทำเกษตรกรรมในปีหน้า

นอกจากนี้หน่วยงานของรัฐยังชี้แจงถึง การระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาว่ามีเจ้าหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำและผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เก็บน้ำทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบ

ในขณะที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องแก้ข่าวลือเรื่องการปิดคลองแสนแสบเพื่อระบายน้ำเหนือเช่นกัน

แต่ละหน่วยงานที่ทำงานรับมืออุทกภัยขณะนี้ย้ำให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ หรือจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด หรือตื่นตระหนกกับข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

มีข้อสังเกตอยู่ว่าการแชร์ข่าวลือเรื่องน้ำในโลกออนไลน์มักมาจากการที่ประชาชนไม่ทราบข้อมูลแน่ชัด

เมื่อสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่อาศัยน่าวิตก และไม่มีตัวแทนทางการเมืองมาอธิบายให้กระจ่างและรวดเร็ว จึงทำให้ข่าวลือหรือข้อมูลซึ่งหาที่มาไม่ได้ปะปนไปกับข้อเท็จจริง

ในขณะที่การถกเถียงหรือหักล้างข้อมูลในช่วงเวลานี้ไม่เหมือนกับช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองเป็นปกติที่มีทั้งฝ่ายค้านและ ฝ่ายรัฐบาล มีผู้รับผิดชอบต่อการเผยแพร่ข้อมูลอย่างชัดเจน และมีการตรวจสอบข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

หากประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในข้อมูลที่สื่อสารมาทางเดียว ข่าวลือก็มักจะแพร่สะพัดอยู่เสมอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน