บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้มีรายได้น้อย ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ขณะนี้เปิดใช้เต็มรูปแบบ ทั่วประเทศแล้ว

ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา พบว่าผู้ที่ถือบัตรคนจนในต่างจังหวัด ต่างพากันรูดซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าเต็มวงเงินตั้งแต่วันแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือความไม่พร้อม เครื่องรูดบัตรไม่เพียงพอ ต้องรอคิวกันนาน เนื่องจากกระจายติดตั้งยังไม่ทั่วถึง บางแห่งทางร้านถึงกับใช้วิธียึดบัตรเอาไว้ก่อน แล้วจ่ายเงินสดให้ในอัตราที่ต่ำกว่าวงเงินจริง และมีข่าวว่าจะตัดสิทธิทั้งร้านค้าและเจ้าของบัตร

นำมาซึ่งความสับสนจนถึงขณะนี้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ต.ค. มีประชาชนใน 7 จังหวัดอีกจำนวน 1.3 ล้านคนที่รับบัตรไปใช้ และมีค่าโดยสารรถยนต์สาธารณะด้วย ต้องรอดูว่าจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ไขอย่างไร

ปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธินี้จำนวนกว่า 11 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียนไว้ 14.2 ล้านคน และมี งบประมาณที่ใช้ในโครงการจำนวน 41,900 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2559 รัฐบาลชุดนี้ ก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยการแจกเงินคนละ 1,500 บาท และ 3,000 บาท จำนวน 8.3 ล้านคน เป็นเงินจำนวน 19,290 ล้านบาท

รวมเงินที่ใช้ทั้งสิ้น 61,160 ล้านบาท

ทั้งโครงการก่อนหน้านี้ และโครงการล่าสุด แม้จะอ้างว่าไม่ใช่ประชานิยม หากเป็นประชารัฐก็ตาม แต่ก็เป็นการแจกเงินแบบให้เปล่า เช่นเดียวกัเช็คช่วยชาติจำนวน 2,000 บาท ที่บางรัฐบาลเคยดำเนินการมาก่อน

เมื่อดูจากสัมฤทธิผลของวิธีการดำเนินนโยบายดังกล่าว ก็ไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จตาม เป้าหมายที่ตั้งใจอยากให้เกิดขึ้นหรือไม่

จริงๆแล้วโครงการอะไรก็ตามที่เป็นรัฐสวัสดิการ ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นในทุกด้าน เพราะสุดท้ายประโยชน์จะตกแก่ประชาชนนั่นเอง

แต่จะต้องมีการวางแผนที่รัดกุม รอบคอบ และเปิดโอกาสให้วิพากษ์วิจารณ์อย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน