จะด้วยความสงสัยใคร่รู้อย่างแท้จริง หรือจะเป็นการโยนหินถามทางสำหรับการ ตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ในครั้งต่อไปอย่างที่มีผู้วิพากษ์กันเอาไว้ก็ดี

แต่ประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ทิ้งเอาไว้ให้สังคมขบคิดจากการตั้งคำถามเรื่องการเมือง 6 ข้อครั้งล่าสุดนั้นมีหลายประเด็นด้วยกัน

ประการหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความหวาดระแวงที่ยังมีต่อพรรคและนักการเมือง แม้ว่าระยะเวลาในการยึดอำนาจจะผ่านมากว่า 3 ปีแล้วก็ตาม

อันมีคำถามตามมาว่า ถ้าเช่นนั้นจะหมายความว่าภารกิจในการสร้างความปรองดองยังไม่บรรลุผลใช่หรือไม่

ประการหนึ่ง คำถามที่แสดงให้เห็นถึง อคติต่อพรรคและนักการเมือง นอกจากจะไม่ช่วยให้การสร้างความปรองดองในสังคมเกิดขึ้นแล้ว

ยังลดทอนเหตุผลข้ออ้างและความน่าเชื่อถือของ คสช.เอง ที่ประกาศตัวว่าเป็นกลาง หรือพร้อมจะเข้ามาเป็นผู้ประสานให้ทุกฝ่ายลดความขัดแย้งกันลงไป

และเมื่อผู้ที่ประกาศตัวว่าจะเป็นกรรมการ สวมวิญญาณเป็นผู้แข่งขันเสียเองแล้ว จะให้ ผู้แข่งขันหรือผู้ชมรายอื่นๆเชื่อถือเชื่อมั่น ได้อย่างไรว่า กติกาและการรักษากติกาจะเป็นไปอย่างเคร่งครัด ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เพราะต้องไม่ลืมว่า รากเหง้าหนึ่งของปัญหาสังคมไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

ก็คือภาวะ “สองมาตรฐาน”

ประการสำคัญที่สุด ในฐานะผู้เสนอตัวเข้ามารับใช้และบริการประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรจะเป็นผู้ตั้งคำถามเอากับผู้อื่น

แต่ในทางกลับกัน ควรจะต้องให้ความสนใจสดับตรับฟังปัญหา คำถาม ข้อกังวล หรือ เสียงบ่นจากสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคม เพื่อจะได้ตอบสนองกับปัญหาหรือความคับข้องใจ เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง

ยิ่งการตั้งคำถามที่ชัดเจนว่ามีคำตอบสำเร็จรูปอยู่ในตัวเองด้วยแล้ว ยิ่งส่อเจตนาทางการเมืองออกมาอย่างชัดเจน

และถ้าพล.อ.ประยุทธ์มีสิทธิในการตั้งคำถามเอากับผู้อื่นได้

สมาชิกในสังคมคนอื่นๆ ก็ควรมีสิทธิตั้งคำถามกับพล.อ.ประยุทธ์ได้เช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน