ไม่ใช่โยนหิน แต่เป็นการหงายไพ่ เปิดหน้าเล่น สำหรับ 6 คำถามของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คำถามแรก วันนี้จำเป็นต้องมีพรรค การเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่

การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูป และทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่

คำถามที่ 2 การที่คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ถือเป็นสิทธิของคสช.ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ไม่ได้ไปลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว

คำถามที่ 3 สิ่งที่คสช.และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่

คำถามที่ 4 การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีต มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่

เพราะสถานการณ์บ้านเมืองก่อนหน้าคสช.และรัฐบาลนี้จะเข้ามา เราได้พบเห็นแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยกประเทศเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่

คำถามที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาลและมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่

คำถามสุดท้าย เหตุใดพรรคการเมือง นักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหว ด้อยค่า คสช. รัฐบาล นายกฯ บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานช่วงนี้อย่างมากผิดปกติ

และเพื่อให้ครบรสชาติ ต้องย้อนไปดูคำถาม 4 ข้อทำนองเดียวของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยถาม เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

1.ประชาชนคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร

3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

4.กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไขและแก้ไขด้วยวิธีอะไร

ส่วนหนึ่งมองว่า คำถาม 6 ข้อของพล.อ.ประยุทธ์ มีเนื้อหาสอดรับกับสัญญาณที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม พี่ใหญ่คสช. แบไต๋ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน

หากจำเป็นคสช.ก็ต้องตั้งพรรคการเมือง

คําถาม 6 ข้อสุดฮอตของพล.อ.ประยุทธ์ เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากนักการเมือง นักวิชาการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การที่คำถามมีลักษณะเป็นการเมือง อาจก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างคสช.กับนักการเมือง อีกทั้งคำถามถึงการสนับสนุนพรรค ยังอาจขัดต่อหลักธรรมาภิบาล เพราะปัจจุบันคสช.คือผู้ใช้อำนาจรัฐ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุเป็นการเปิดเผยจุดมุ่งหมายของคสช.อย่างชัดแจ้ง ไม่อ้อมค้อม อำพรางใดๆ ว่าต้องการสืบทอดอำนาจออกไป แม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ไม่ต้องการให้พรรคและนักการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาล กลับมาเป็นรัฐบาลอีก ด้วยการสนับสนุนพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่และมีอยู่เดิม เพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายใต้กำกับคสช.มาบริหารประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์และการปฏิรูปที่คสช.วางไว้

มากไปกว่านั้น เชื่อว่าผู้มีอำนาจได้กำหนดแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มตั้งแต่ยึดอำนาจ ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งคำถามเพิ่มในการทำประชามติ การจัดการกับบางพรรค การไม่ยอมปลดล็อก และพูดถึงการตั้งพรรคใหม่

คำถาม 6 ข้อและ 4 ข้อยังเป็นการชี้นำสังคม หวังจะได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชน เพื่อใช้เป็นข้ออ้างเดินหน้าแผนของตนเองต่อไป เนื่องจากที่ทำมาทั้งหมดยังไม่บรรลุ

พรรคใหญ่ยังไม่ถูกทำลายราบคาบ ขณะที่คะแนนนิยมของพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลคสช.เริ่มลดลง ปัญหาสะสมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขได้

หากปล่อยให้มีการเลือกตั้งในสภาพนี้ จะไม่มีหลักประกันว่าพล.อ.ประยุทธ์และพวกจะ “จบเกม” ได้อย่างที่ต้องการ สิ่งที่ทำมาก็จะ “เสียของ” ในที่สุด

นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวว่า คำถามทั้ง 6 ข้อ เป็นการ “เปิดหน้า” ให้รู้ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะเล่นการเมืองต่อ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเปิดช่อง ให้ไม่ว่าจะลงเลือกตั้งหรือไม่ ก็สามารถกลับมาเป็น นายกฯ ได้

เช่นเดียวกันนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. เชื่อว่า การตั้งคำถามของพล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่การโยนหินถามทาง เป็นการ “หงายไพ่เล่น” เพราะจริงๆ เนื้อหาคำถามทั้ง 6 ข้อ สรุปรวบยอดให้เป็นคำถามเดียวได้ คือ

หลังการเลือกตั้งประชาชนยินดีให้คสช.อยู่ในอำนาจต่อไปหรือไม่

ฟากฝั่งนักวิชาการ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความกังวลว่า

การให้กระทรวงมหาดไทยสอบถามประชาชน อาจมีปัญหาว่าคำตอบจะเที่ยงตรงเพียงพอหรือไม่

อีกทั้งการตั้งคำถามเกี่ยวกับการสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่ง จะทำให้คสช.สูญเสียสถานะความเป็น “คนกลาง” ไปในทันที

ทั้งที่ความจริงอำนาจคสช.หลังเลือกตั้ง ยังจะมีอยู่ต่อไปผ่านกลไกส.ว.จากการ แต่งตั้งของคสช.เอง รวมถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ที่สำคัญการที่คสช.ลงมาเป็น “ผู้เล่น” เสียเอง ยังกระทบถึงการเลือกตั้ง เป็นปัญหาความไม่เชื่อมั่นกลไกรัฐที่คสช.ควบคุมอยู่ ส่งผลให้ประเทศไม่สามารถกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้

นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เชื่อว่า ทั้ง 6 คำถาม สะท้อนว่าพล.อ.ประยุทธ์กำลัง “ชั่งน้ำหนัก” ว่าควรให้คสช.หนุนพรรคที่กำลังจะตั้งใหม่ดีหรือไม่

ทั้งที่ความจริงพล.อ.ประยุทธ์และคสช.ต้อง “วางตัวเป็นกลาง” และ “ปล่อยวาง” ให้ประเทศเดินไปตามครรลองประชาธิปไตย

นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คำถามของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นการเปิดเผยตรงไปตรงมาว่า

คสช.จะพาตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างใกล้ชิด ผ่านพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่

ซึ่งการ “แทรกตัว” เข้ามาของคสช. อาจทำให้การเลือกตั้งมีปัญหาในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ยังคง “ติดล็อก” คำสั่งห้ามเคลื่อนไหวหาเสียง

จากข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เหล่านี้ จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า

คสช.กำลังไม่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองทำมาว่า ถึงตอนนี้ประชาชนยังจะเอาด้วยหรือไม่ เป็นความไม่มั่นใจสืบเนื่องจากผลสำรวจโพลพบว่าคะแนนนิยมพล.อ.ประยุทธ์ ลดลงจากร้อยละ 78 มาอยู่ที่ร้อยละ 52 ในเวลาแค่ 4 เดือน

ประกอบกับเริ่มหวั่นไหว ไม่เชื่อมั่นว่า “กับดัก” ต่างๆ ที่ออกแบบ ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก จะใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับพรรคฝ่ายตรงข้ามอย่างได้ผล

รวมถึงต้องการอาศัยคำตอบของคำถามทั้ง 6 ข้อและ 4 ข้อ สร้างความชอบธรรมให้กับตนเองในการดำรงอำนาจต่อไป

ท่ามกลางข้อสงสัยว่ากระบวนการได้มาซึ่งคำตอบ จะเชื่อถือได้มากน้อยขนาดไหน ในขณะที่ “การเลือกตั้ง” ซึ่งถือเป็นเครื่องมือวัดความเห็นทางการเมืองของประชาชน ที่เป็นอิสระและเที่ยงตรงมากที่สุด

กลับต้องเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน