รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียม ปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่นบางระดับ ก่อนเลือกตั้งส.ส.

การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ตั้งเงื่อนไขว่าการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งห้าม โจมตีคสช.และสร้างความขัดแย้ง

มีความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ดังนี้

1.ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ

อดีตเลขาธิการ กกต.

การปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความจำเป็น เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่น ถูกมาตรา 44 ยกเลิกไปแล้ว ถ้าจะกลับมาเลือกตั้งแบบเดิม อย่าลืมว่าขณะนี้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นยังปรับปรุง และยังออกไม่ครบถ้วน

ฉะนั้น หากจะเลือกตั้งจริงๆ จะต้องใช้อำนาจพิเศษของคสช.ออกกฎระเบียบ โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งาน ถ้าทำลักษณะนี้คงไม่ช้าเกินไป

หรือถ้ากระทรวงมหาดไทยบอกว่าได้มีการเตรียมพร้อมไว้แล้วทั่วประเทศ ทั้งการยกร่างกฎหมาย และเตรียมเสนอสนช.แล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ก็สามารถปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ทันที

ส่วนจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับใดก่อนนั้น ผมเห็นว่า ถ้าตรงไหนพร้อมก็เลือกก่อน

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่น เราสนใจการเลือกในส่วนกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งผู้ว่าฯกทม.ขณะนี้เป็นระบบการแต่งตั้งอยู่ หากมีการเลือกตั้งในกทม. น่าสนใจว่าใครจะได้รับเลือกตั้ง เพราะมันเป็นจุดที่เชื่อมไปยังการเลือกตั้งระดับชาติด้วย

คงต้องดูว่าพรรคไหน กลุ่มใดเป็นผู้ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. และใครจะได้รับการเลือกตั้ง และถ้าใครได้รับการเลือกตั้งแล้ว จะต้องมาดูอีกว่าคนที่ได้อยู่พรรคไหน หรือถ้าเป็นผู้สมัครอิสระก็ต้องดูเพิ่มอีกว่า ใครเป็นคนส่ง หรือเป็นตัวแทนของใครหรือเปล่า

การจะปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่น ถือเป็นเรื่องดี เพราะเราว่างเว้นการเลือกตั้งมา 3 ปีแล้ว และจะเป็นการเช็กความเรียบร้อยหรือสำรวจข้อบกพร่อง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติได้อย่างเรียบร้อย จึงถือเป็นการวัดกระแสความสนใจในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนมากกว่า

ส่วนการจะหาเสียงในการเลือกตั้ง เราดูตัวบทกฎหมายเป็นหลัก ในกฎหมายห้ามหรืออนุญาตให้ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งตอนนี้กฎหมายนี้ยังไม่มีออกมา จึงไม่รู้ว่าจะต้องมีกฎหมายอะไรที่จะไปห้ามไม่ให้ผู้สมัครโจมตีคสช. ดูได้จากการทำประชามติเมื่อ 7 ส.ค.59 ว่าห้ามอะไรบ้าง และถ้ากฎหมายไม่ได้ห้ามก็แสดงทำแล้วไม่ผิด

ทั้งนี้ กฎหมายบังคับอยู่แล้วว่า นับจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญต้องมีการออกกฎหมายลูก 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เสร็จเพื่อดำเนินการเลือกตั้งทั้งระดับชาติ และเลือกตั้งท้องถิ่น ตามประสงค์ของประชาชนที่จะให้มีการเลือกตั้ง

2.สามารถ แก้วมีชัย

คณะทำงานติดตามการร่างรธน. พรรคเพื่อไทย

การเลือกตั้งท้องถิ่นมีหลายระดับมาก ทั้งระดับจังหวัดและระดับเทศบาล ที่รัฐบาลระบุจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นบางระดับก่อนนั้น ถามว่าจะเลือกตั้งในส่วนไหนก่อน จะเลือกส่วนที่เยอะที่สุด คืออบต. หรือส่วนที่น้อยที่สุด คืออบจ.

หากจะเริ่มที่การเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน ก็เป็นเรื่องใหญ่พอสมควร ถามว่าบุคลากรที่เข้าดูแลการเลือกตั้งมีความพร้อมแล้วหรือ

วันนี้ยังเห็น กกต.เถียงกับรัฐบาลอยู่เลย โดย กกต.กังวลว่าถ้าไม่ให้ กกต.กำกับดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่นก็อาจเป็นโมฆะ ขณะที่คนเขียนรัฐธรรมนูญระบุให้ กกต.ดูแลหรือมอบหน่วยงานอื่นดูแลการเลือกตั้ง ซึ่งประเด็นนี้อาจจะนำไปสู่การตีความอีก

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีแต่ กกต.กลางกำกับดูแลและตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้าไปดูแลแต่ละพื้นที่แทนกกต.จังหวัด ถือเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งอาจเกิดปัญหาในทาง ปฏิบัติได้

ส่วนที่เขียนเปิดช่องให้หน่วยงานอื่นเข้ามากำกับดูแลการเลือกตั้ง ถามว่ามีเจตนาให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามากำกับดูแลหรือไม่ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้องค์กรอิสระ ก็คือ กกต.เข้ามาดูแลการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดข้อติฉินนินทาเรื่องความไม่เป็นกลาง

สุดท้ายแล้ว เรากำลังเดินไปสู่ระบบเก่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้ง กกต.ขึ้นมา ท้ายที่สุดเราจะมี กกต.ไว้ทำไม แถมยังตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 7 คนเพื่ออะไร

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าหากมีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก่อน จะเป็นเรื่องยาก เกิดความโกลาหลวุ่นวายได้ ดังนั้น ก่อนจะทำเรื่องยาก ทำไมผู้มีอำนาจไม่หันมาปลดล็อกพรรค และเดินหน้าการเลือกตั้งทั่วไปในระดับ ส.ส.ก่อน ซึ่งมีแค่ 350 เขต

การที่รัฐบาลอยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนนั้น มองว่าคงมีเจตนายื้อการเลือกตั้งใหญ่ออกไปก่อน ขณะเดียวกันอาจส่งคนของตนเองลงไปคุมท้องถิ่น หวังสกัดกั้นพรรคและนักการเมือง ไม่ให้ได้รับความนิยมจากประชาชน

แต่อย่าลืมว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค สามารถส่งใครเข้าไปสอดแทรกในพื้นที่ได้ หากรัฐบาลสามารถคุมท้องถิ่นได้ก็อาจมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งใหญ่ ส่วนตัวเชื่อว่าหวังที่จะสกัดพรรคเพื่อไทย เพราะที่ผ่านมาพรรคเราได้รับความนิยมจากประชาชน ได้เสียงข้างมากทุกครั้งในการเลือกตั้ง

ส่วนที่ พล.อ.ประวิตร ตั้งเงื่อนไขการหาเสียงว่าห้ามกล่าวหาโจมตี คสช. รวมทั้งสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นนั้น กฎหมายเลือกตั้งมีการควบคุมไม่ให้ใส่ร้ายป้ายสี พูดให้ร้าย หมิ่นประมาท พูดจาหลอกลวงหรือไม่ใช่ข้อเท็จจริงอยู่แล้ว

พล.อ.ประวิตร ออกอาการร้อนตัวไปหน่อยหรือไม่ หรือกลัวคนไปสะกิดแผล

3.จุติ ไกรฤกษ์

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

การปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่นแค่บางระดับนั้น อยากให้คสช.ทบทวนให้ดีว่า มีเวลาบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาประเทศได้หรือไม่

ถ้ามองถึงความเร่งด่วน เวลานี้ประชาชนรากหญ้ามีปัญหารายได้ลดลง ข้าวเปลือกที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ ราคาต่ำมาก ราคายางพาราต่ำมาก ข้าวโพดและมันสำปะหลังมีแนวโน้มราคาไม่ดี รัฐบาลต้องทุ่มสรรพกำลังไปแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำมา จะล้มเหลวตามไปด้วย

อยากให้รัฐบาลไปแก้เรื่องการกระจุกตัวของการใช้บัตรคนจน แก้ปัญหาหนี้ วันนี้ที่ให้แก้ คือช็อปช่วยชาติ ที่คนมีรายได้ 1.5 หมื่นบาทถึงจะได้ลดภาษี ซึ่งเป็นเพียงแค่คนกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่ชาวนาขายข้าวเปลือก 2 เกวียน ยังไม่มีสิทธิ์ในโครงการช็อปช่วยชาติเพราะรายได้ไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท

วันนี้ขอให้ยึดการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นแผนหลักและเร่งด่วนที่สุด เรื่องการเมืองการปลดล็อกควรเป็นเรื่องรอง

วันนี้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจควรคิดว่าทำอย่างไรเงินจะถึงประชาชนเร็วที่สุด ตรงที่สุด และคสช.ควรแก้ปัญหาให้ตรงที่สุด เรื่องอื่นไว้ทีหลัง วันนี้เป็นครั้งแรกที่ขอให้คสช.ลดการพูดเรื่องประเด็นการเมือง ให้ทุ่มเทสติปัญญา สมาธิ แก้ปัญหาปากท้องของคนจน

ถ้าถามว่าการปลดล็อกการเลือกตั้งท้องถิ่นแค่บางระดับเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ก็คิดว่าคสช.พยายามจับปลาสองมือ และจะล้มเหลวทั้งคู่ การเมืองก็ไม่นิ่ง เพราะถ้าคนท้องถิ่นยังหิวยังยากจนอยู่ ก็ไม่มีสมาธิคิดอย่างอื่น

ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่าคสช.ต้องการเช็กเรตติ้ง จึงให้เลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกส.ส.นั้น ไม่ทราบว่าคสช.คิดอะไร แต่รู้ว่าประชาชนคิดอะไร ความยากจนเขารอไม่ได้ เงินชำระดอกเบี้ย เงินจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เขารอไม่ได้

ถ้ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองก็ดีตามไปด้วย และถ้าคสช.แก้ปัญหาปากท้องได้ดี เลือกตั้งกี่ระดับก็ชนะหมด

ส่วนที่ พล.อ.ประวิตร ตั้งเงื่อนไขว่า การหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นห้ามโจมตี คสช. และสร้างความขัดแย้งนั้น ขอยกสุภาษิตจีนที่บอกว่า “มนุษย์ไม่สามารถยกฝ่ามือบังแสงอาทิตย์ได้” และคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก”

ฉะนั้นถ้าคสช.ทำดีแล้ว ไม่ต้องไม่กลัวใคร

4.ณัฐกร วิทิตานนท์

สำนักวิชานิติศาสตร์ ม.แม่ฟ้าหลวง

เท่าที่ดูเนื้อหาจากรัฐธรรมนนูญเห็นว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไข หากรัฐบาลจะให้มีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น สามารถทำได้ทันที โดยใช้กฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นกลาง หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาหรือผู้บริหารส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2545 เป็นหลักได้

ส่วนการจะแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญนั้น ไม่น่าจะจำเป็นเพราะแนวทางที่รัฐบาลคสช. พยายามจะปฏิรูปส่วนท้องถิ่นผ่านการเสนอของสภาปฏิรูป เช่น การควบรวมท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่ง ให้เหลือ 3 พันกว่าแห่ง แนวโน้มคงไม่น่าเกิดขึ้น

คาดว่ารัฐบาลอยากปลดล็อกส่วนท้องถิ่นก่อน แต่การเลือกตั้งคงไม่อาจเกิดขึ้นเร็วๆนี้ คงจะรอภายหลังเซ็ตซีโร่กกต.ชุดนี้เสร็จสิ้น มีกกต.ชุดใหม่ก่อน เพราะอาจมองว่า กกต.ชุดนี้ที่มีมาก่อนการยึดอำนาจ อาจเป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งทางการเมือง จึงอยากรอให้มีชุดใหม่ก่อน

ส่วนอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ กกต.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ที่ผ่านมา บุคลากรที่ดำเนินการมาจากส่วนท้องถิ่น มีผอ.กกต.คือ ปลัดในพื้นที่นั้น กกต.จังหวัดคอยทำหน้าที่หาข่าวหาข้อมูล แล้วรายงาน กกต.กลาง พิจารณาให้ใบเหลืองแดงเท่านั้น

ประกอบกับการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ก็พบว่าส่วนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ ตั้งงบเบิกจ่ายสำหรับการเลือกตั้งไว้แล้ว ซึ่งคงเกิดจากการประเมินว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2561

ข้อถกเถียงดังกล่าวจากกกต. จึงน่าจะมาจากประกาศ คสช. ที่ 1/2557 ข้อ 8 ใจความว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นต่อเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว และต้องเกิดจากความเห็นของคสช.ที่หารือกับกกต. หมายความว่า ต่อให้กกต.พร้อมแค่ไหน ก็ทำไม่ได้ ถ้าคสช.ไม่เห็นชอบ

ส่วนการเลือกตั้งควรทำพร้อมกันทุกระดับทั้งประเทศเลยหรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการให้ดี หากจะทำพร้อมกันหมด

ต้องคำนึงถึงทรัพยากรทั้งบุคลากร และงบประมาณว่ามีเพียงพอหรือไม่ จะทำความเข้าใจกับประชาชนที่ไปลงคะแนนไม่ให้สับสนได้อย่างไร เพราะต้องกาบัตรเลือกทั้งผู้บริหารและสมาชิกสภา

แต่หากค่อยๆ ทำทีละระดับ ต้องดูว่าจะมีผลกระทบตามมาหรือไม่ ทั้งในแง่ความได้เปรียบเสียเปรียบ หากเลือกนายกอบจ.ก่อนอบต. และผลกระทบจากการห้ามขายเหล้าเบียร์ช่วงวัน เลือกตั้ง

หากจัดทีละส่วน บางพื้นที่อาจใช้เวลาเป็นเดือน จังหวัดไหนที่เป็นเขตท่องเที่ยวจะมีผลกระทบหรือไม่

ทุกวันนี้บรรยากาศทางการเมืองระดับชาติ ส่งผลต่อการเมืองส่วนท้องถิ่น เกิดการเกียร์ว่างในหลายพื้นที่ สมาชิกสภาและผู้บริหาร รู้ว่าตราบใดที่คสช.ยังอยู่ก็จะได้อยู่รักษาการในตำแหน่งต่อไป

ต่างจากบรรยากาศการเมืองก่อนคสช.เข้ามา ที่การแข่งขันในพื้นที่จะมีสูงมาก ซึ่งสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาและผู้บริหารพบว่า ร้อยละ 40 จะสอบตก และร้อยละ 60 จะเป็นคนหน้าใหม่เข้ามา

ส่วนตัวมองว่า หากทำได้ทั้งหมดพร้อมกันทุกระดับทั้งประเทศ ในช่วงต้นปี 61 น่าจะเป็นผลดีกว่า เพื่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวาง เปรียบเสมือนเป็นการซ้อมใหญ่ให้กกต. ก่อนจัดการเลือกตั้งทั่วไป ที่คสช.วางโรดแม็ปไว้ในเดือนพ.ย.61 ด้วย

ส่วนข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นจะมีเพื่อใช้วัดเรตติ้งคสช.หรือไม่นั้น มีความเป็นไปได้ เพราะธรรมชาติของการเลือกตั้งของท้องถิ่นคือ ฐานเสียงของอบต. จะเป็นฐานเสียงให้อบจ. ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า อบจ. คือหัวคะแนนที่สำคัญสำหรับพรรคขนาดใหญ่ เห็นได้จากในหลายพื้นที่ ก่อนปี 2557 การหาเสียงท้องถิ่นแทบไม่ได้ชูนโยบาย แต่เป็นการแข่งขันที่อุดมการณ์การเมืองและสีเสื้อเป็นสำคัญ

เมื่อการเมืองส่วนท้องถิ่นบางแห่งที่เป็นภาพสะท้อนการเมืองระดับชาติ ที่เปิดโอกาสให้พรรคส่งผู้สมัครลงแข่งได้ จึงจำเป็นต้องทบทวนปลดล็อกพรรคควบคู่กันไปกับการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน