คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาเปิดงาน “ไทยแลนด์ 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในปีหน้ามี 3 ประการ ด้วยกัน

ประการแรก คือการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีรายได้น้อย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเกษตรกรในชนบทหรือผู้ใช้แรงงาน

เพื่อป้องกันมิให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้และโอกาสของคนกลุ่มนี้กับคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม

ยิ่งถ่างกว้างออกไป

ประการต่อมา คือการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อจะเป็นฐานรองรับสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจรอบใหม่ในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรืออีอีซี ไปจนกระทั่งถึงการพัฒนากลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพในเรื่องการค้าชายแดน รวมไปถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

ประการสุดท้าย คือการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเต็มตัว ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

อันมีภารกิจตั้งแต่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง และเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่าย

จนกระทั่งถึงการเพิ่มความรู้ความเข้าใจกับโลกและวิทยาการที่เปลี่ยนไป

ทั้งหมดนี้ หากเป็นไปตามเป้าหมายและความต้องการ ในด้านหนึ่งก็น่าจะเชื่อ ได้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ไม่มากก็น้อย

แต่สิ่งที่ผู้วางนโยบายจะต้องไม่ลืมก็คือ ในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การกำหนดนโยบายอาจจะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกันก็อาจจะไม่ครอบคลุมทั่วถึง เพราะขาดเสียงสะท้อนและการมีส่วนร่วมจากฝ่ายอื่นกลุ่มอื่น

นโยบายที่ไม่ครบถ้วนรอบด้านนั้น แม้ด้านหนึ่งอาจมีประสิทธิภาพ สามารถบันดาล “ความเจริญ” ให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มักจะก่อปัญหาอื่นๆ ตามมา เพราะความที่ขาดการมีส่วนร่วมและเสียงของประชาชนนั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน