วิธีคำนวณหาส.ส.ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักการเมืองและนักวิชาการ มีปฏิกิริยาและบทวิเคราะห์ว่าจะมีพรรคใหญ่ที่เสียเปรียบ พรรคขนาดกลางได้เปรียบ ส่วนพรรคขนาดเล็กไปจนถึงเล็กมาก อาจไม่ได้รับประโยชน์เลย

แต่การเขียนกฎหมายลูกต้องออกมาเป็นเช่นนี้ เพราะกฎหมายหลักคือรัฐธรรมนูญกำหนดสูตร ไว้แล้ว

ประชาชนที่เคยลงคะแนนเห็นชอบให้รัฐธรรมนูญผ่านไปก่อน เพื่อจะได้มีการเลือกตั้งโดยไม่ถูกหน่วงรั้ง รับทราบหรือตระหนักถึงสูตรนี้หรือไม่ ยังไม่แน่ชัด

เพราะคณะผู้เขียนกฎหมายมีอยู่จำกัด และไม่ได้มีกลไกที่เชื่อมโยงประชาชนอยู่ตลอดเวลา

ความมุ่งหมายที่อ้างอยู่ในสูตรคำนวณหาส.ส.ว่า จะช่วยทำให้เสียงประชาชนมีความหมายมากขึ้น อาจช่วยทำให้พรรคที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับสองหรือสาม มีโอกาสจะได้สัดส่วนตัวแทนเข้าสู่สภามากขึ้นนั้นส่งผลดีต่อรัฐสภาหรือไม่ ยังเป็นที่น่าสงสัย

เพราะสูตรของการตัดลดความได้เปรียบของพรรคที่มีคะแนนมาอันดับหนึ่งถึงสองสามชั้น ก็เพื่อลดทอนศักยภาพของความเป็นเสียงข้างมากลง

เมื่อจำนวนส.ส.ของพรรคการเมืองมีคะแนนทิ้งห่างกันไม่มาก การจัดตั้งรัฐบาลหรือเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองด้วยกันจึงเป็นเรื่องที่ทำยาก

แม้ว่าอนาคตจะยังมาไม่ถึง แต่การตีกรอบไว้ลักษณะนี้ส่งสัญญาณการเปิดช่องให้เชื้อเชิญนายกรัฐมนตรีคนนอกไว้อย่างชัดเจน

ดังนั้นขณะนี้แม้ประชาชนทั่วไปอาจยังไม่ได้ศึกษาสูตรการคำนวณส.ส. ว่าจะได้ที่มาของตัวแทนที่ได้ไปนั่งในสภาอย่างไร

จะทราบแน่ชัดหรือไม่ว่า ถ้าพรรคใดได้ จำนวนส.ส.เขตมาก ส.ส.บัญชีรายชื่อก็อาจจะลดน้อยลง

แต่อย่างน้อยน่าจะตัดสินใจได้ว่าจะยอมให้เกิดการใช้สูตรนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่

เพราะสูตรนายกฯ คนนอกเคยใช้มาแล้ว และแสดงผลให้เห็นมาแล้วว่าขัดแย้งอย่างยิ่งหากปะปนกับระบบที่มีผู้แทนมาจากการเลือกตั้ง

ไม่เคยมีประเทศประชาธิปไตยใดที่มีนายกรัฐมนตรีในระบอบรัฐสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน