กรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ขอเข้าพบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในสัปดาห์นี้ เป็นความพยายามอีกครั้งในการทวงถามความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง เมื่อปี 2553

หลังจากป.ป.ช.ชุดก่อน เคยมีมติยกคำร้องไปแล้ว แต่เรื่องยังไม่จบ

คำโต้แย้งว่า คำสั่งใช้กำลังทหารกลางเมืองหลวงเป็นไปในกรอบของกฎหมาย ยังคงต้องการการพิสูจน์ที่แน่ชัด โดยเฉพาะเมื่อมีพลเรือนไร้อาวุธตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

การจะจบด้วยคำว่าสมควรแล้ว หรือมีถ้อยคำเฮตสปีชที่ถูกบิดและเบี่ยงประเด็นว่าเผาบ้านเผาเมือง คงไม่ได้

เหตุการณ์ปี 2553 ที่มีพลเรือนไร้อาวุธเสียชีวิตเป็นส่วนใหญ่จากจำนวน 99 ศพนั้นคงจะจบได้ยาก หากไม่มีผู้รับผิดชอบ

แม้เวลาจะผ่านมา 7 ปีแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีคำตอบให้ญาติผู้ตาย และผู้บาดเจ็บ เชื่อได้ว่าการติดตามทวงถามและต่อสู้ให้เกิดกระบวนการสอบสวนและเอาผิดผู้รับผิดชอบจะมีต่อไป

โดยเฉพาะเมื่อมีกรณีเปรียบเทียบจากคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคณะในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มการเมือง เมื่อปี 2551

ทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมในวิธีการที่รัฐปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม

ในขณะที่คณะทำงานของป.ป.ช. ชุดนี้เพิ่งเผยแพร่ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2560

ผลปรากฏว่าในองค์กรอิสระ 5 หน่วยงาน ป.ป.ช.ได้คะแนนสูงสุด 90.44 อยู่ในเกณฑ์มีคุณธรรมและความโปร่งใสสูงมาก

เมื่อป.ป.ช.ให้คะแนนหน่วยงานตนเองสูงเช่นนี้ ย่อมแสดงถึงความมั่นใจในการดำเนินงานที่จะตอบสนองความคาดหมายของประชาชน อย่างตรงไปตรงมาและมีคุณธรรม

ในกรณีที่มีกลุ่มประชาชนทวงถามการรื้อฟื้นคดี และขอสำนวนคำวินิจฉัยเหตุการณ์ปี 2553 ซึ่งป.ป.ช. ชุดก่อนมีมติก่อนหน้านี้

หากไม่มีปฏิกิริยาหรือคำตอบที่แน่ชัด คงไม่ดีนักกับหน่วยงานที่มีความโปร่งใสเช่นนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน