เมื่อวันที่ 22 พ.ย. บริษัทโตโยต้า ร่วมกับสมาคมไทย-ญี่ปุ่น จัดสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “เส้นทางไมตรี 130 ปี : ไทย-ญี่ปุ่น ว่าด้วยเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง ที่ห้องประชุม 1-2 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เชิญศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง “อดีต ปัจจุบัน อนาคต สยามประเทศ กับ ญี่ปุ่น และอาเซียน 2430-2560” ในโอกาสครบรอบ 130 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น

ดร.ชาญวิทย์

ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่าในแง่ความสัมพันธ์ไทยกับญี่ปุ่นในสมัยเริ่มต้นมีความคล้ายคลึงกันกับเรื่องการทูตเรือปืน และการค้าเสรี จากการถูกบังคับให้ทำการค้าเสรี อย่างกรณีญี่ปุ่นที่มีกัปตันแม็ตธิว เพอร์รี ที่นำเรือเข้าอ่าวเอโดะ และบังคับญี่ปุ่นค้าขาย เช่นเดียวกับไทยที่ถูกบังคับให้ลงนามสนธิสัญญาการค้าบาว์ริง

แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือญี่ปุ่นมีการปฏิรูปอุตสาหกรรมหนัก มีรัฐธรรมนูญ มีลัทธิทหาร แต่ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นรัฐราชวงศ์ เป็นรัฐการเกษตร และเป็นรัฐราชการ ต่างกับญี่ปุ่นที่ก้าวไปเป็นรัฐอุตสาหกรรม

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็น ญี่ปุ่นกับไทยกลายเป็นคู่ค้า แต่ความสัมพันธ์ก็มีทั้งความชื่นมื่นและชิงชังในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วง 14 ตุลา 2516 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นไม่ราบรื่นเท่ากับที่เคยเป็นมา ขบวนการนิสิต นักศึกษาประณามภัยเขียว คือทหารไทย ภัยขาว คือสหรัฐ และภัยเหลืองคือ ญี่ปุ่น ซึ่งการประท้วงต่อต้านการเข้ามาลงทุนของญี่ปุ่นและสหรัฐ

สำหรับความสัมพันธ์ไทย อาเซียน-ญี่ปุ่นร่วมสมัย ดร.ชาญวิทย์มองผ่านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น 4 คน ประกอบด้วยนายคากูอิ ทานากะ (พ.ศ.2515-2517) นายทาเคโอะ ฟูกูดะ (พ.ศ.2519-2521) นายจุนอิจิโระ โคอิซูมิ (พ.ศ.2544-2549) และนายชินโซะ อาเบะ (ช่วงแรก 2549-2550 และช่วงหลัง 2555 ถึงปัจจุบัน)

นายจุนอิจิโร โคอิซูมิ

นายทานากะมาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย พร้อมกับวางนโยบายส่งเสริมเพื่อนบ้าน เคารพในเอกราชอธิปไตยของกันและกัน เข้าใจกัน และมีการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน

ส่วนนายฟูกูดะ ที่เดินทางมาเยือนไทยในช่วงปี 2519-2521 ตรงกับรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งมีการตอกย้ำญี่ปุ่นกับอาเซียน จากลักธิฟูกูดะ เน้นลักษณะความสัมพันธ์แบบใจถึงใจ ของอาเซียนรวมถึงไทย

ด้านนายโคอิซูมิตรงกับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรเป็นช่วงที่ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อย่างจริงใจเปิดเผย เชื่อมั่นในประชาธิปไตย และเศรษฐกิจการตลาด

สำหรับยุคนายอาเบะ ตรงกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นยุคที่ญี่ปุ่นเทน้ำหนักให้กับอาเซียนมากกว่าไทยโดยลำพัง เนื่องจากผลพวงจากอำนาจจีนผงาดเต็มที่แล้ว แต่ความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่นลดน้อยลงและมองไทยเป็นยุทธศาสตร์น้อยลง

สิ่งที่อยากเห็นในความสัมพันธ์สองประเทศคือ ญี่ปุ่นจะสร้างสมดุลสร้างประชาธิปไตยในไทยให้ไปกันแบบที่มีสมดุลผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและควรมองไทยเป็นเพื่อนทางยุทธศาสตร์ ไม่ใช่เพียงเพราะคานอำนาจจีนเท่านั้น รวมไปถึงสนับสนุนประชาธิปไตยในไทยเพื่อประโยชน์ของญี่ปุ่นเองในแบบยั่งยืน และเพื่อใช้กลยุทธ์ไทย +1 คือการใช้ไทยเป็นสปริงบอร์ดกระโดดสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน