น่าจะเป็นแค่สีสันชั่วครู่ชั่วยาม

สำหรับโหมดการเมืองว่าด้วยเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี ที่ยืดเยื้อมานานมากกว่า 3 สัปดาห์นับตั้งแต่พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ลาออกจากรมว.แรงงาน

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ระบุเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าได้นำรายชื่อรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 5” ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว

ส่วนความชัดเจนว่าใครอยู่ ใครไป จะปรับใหญ่เกิน 10 เก้าอี้เหมือนอย่างที่ นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหรคมช. ระบุหรือ ไม่ ต้องรอประกาศชัดเจนเป็นทางการ อีกครั้ง

แต่ที่ชัดเจนแบบไม่ต้องถอดรหัส เพราะพล.อ.ประยุทธ์ยืนยันเอง

ว่า “พี่ใหญ่”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กับ “พี่รอง”พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยังปักหลักอยู่กับเก้าอี้ตัวเดิม

ดังนั้น ข่าวที่ว่านายกฯ จะดึงเก้าอี้รมว.กลาโหมมานั่งควบเอง จึงไม่มีมูลความจริง เป็นข่าว “มโน” ไปเองทั้งดุ้น

ส่วน “เพื่อนรัก” อย่าง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ก็ยังอยู่ เพียงแต่จะไม่ได้อยู่ กระทรวงเกษตรฯ ที่เดิม ต้องโยกสลับไปอยู่กระทรวงอื่นแทน เพื่อลดแรงเสียดทาน

ที่น่าจะคอนเฟิร์มอีกคน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล อดีตปลัดฯ กลาโหม ลาออกจากการเป็นสมาชิกสนช.เรียบร้อย จะเข้ามาเสียบแทนใคร ตำแหน่งใด ต้องรอดู เช่นเดียวกับ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เพื่อนร่วมรุ่นตท.12 กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีชื่อติดโผมาตั้งแต่แรก

รายชื่อเหล่านี้หากเป็นจริง ใครก็แล้วแต่เคยคาดหวังจะได้เห็นโควตารัฐมนตรีที่มาจาก “ทหาร” ลดน้อยลง แล้วเพิ่มโควตา “นักบริหารมืออาชีพ” มากขึ้น ก็อาจต้องผิดหวังอยู่บ้าง

ขณะที่ทีมงานด้านเศรษฐกิจของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ น่าจะอุ่นใจได้มากสุด เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุ จะไม่มีการปรับเปลี่ยนโฉมทีมเศรษฐกิจ

ซึ่งความจริงน่าจะหมายความว่า ไม่ถึงกับโละทิ้งยกแผงเหมือนสมัย “หม่อมอุ๋ย”ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นหัวหน้าทีม แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยในบางตำแหน่ง เพื่อความเป็นเอกภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพขับเคลื่อนผลงาน

โดยเฉพาะแผนอัดฉีดแก้ปัญหาปากท้อง เพิ่มรายได้ชาวรากหญ้า ภายใต้เป้าหมายปี 2561 คนจน จะหมดไปจากประเทศ จะต้องไม่เกิดอาการสะดุด ในช่วงปีสุดท้ายของโรดแม็ปโดยเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นเรื่องใหญ่แน่

แต่ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าใครมา ใครไป ใครอยู่ต่อหรือใครตกเก้าอี้ เป็นเรื่องที่บรรดารัฐมนตรีลุ้นระทึกกันเอง

ขณะที่คนภายนอกไม่รู้สึกตื่นเต้นไปด้วย โดยเฉพาะพรรคใหญ่ฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ให้ราคา เพราะไม่ว่าจะปรับเข้า ปรับออก สลับเก้าอี้ โยกซ้ายโยกขวาอย่างไร

บ้านเมืองก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่ดี

สําหรับพรรคการเมืองทั่วไป สิ่งสำคัญเฝ้าจับตาตอนนี้ไม่ใช่การปรับครม. แต่อยู่ตรงที่เมื่อไหร่คสช.ถึงจะ “ปลดล็อก” ให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวทำกิจกรรมได้อิสระ

หากนับจากวันที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้เป็นทาง การเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็ผ่านมาแล้ว 50 วัน

หากนับจากวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน ก็ผ่านมาแล้วกว่า 8 เดือน แต่คสช.ก็ยังนิ่งเงียบ ไม่ปลดล็อก

ไม่ว่าล็อกคำสั่งคสช.ฉบับที่ 7/2557 ห้ามบุคคลทั่วไปชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ไม่ว่าล็อก คำสั่งคสช.ฉบับที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

มีการวิเคราะห์ว่า การไม่ดำเนินการปลดล็อก 2 คำสั่ง คสช. ทั้งที่มีผลกระทบอย่างสูงต่อบรรดาพรรคการเมือง

อย่างเบาะๆ ก็อาจเป็นเหตุให้พรรคการเมืองหมดสิทธิส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ไปจนรุนแรงถึงขั้นโดน “ยุบ” สิ้นภาพความเป็นพรรคการเมือง

น่าจะมีสาเหตุเดียวกับการที่ผู้มีอำนาจตั้งคำถาม 6+4 ข้อให้ประชาชนตอบ นั่นคือมีที่มาจากความ “กลัว”

ไม่ใช่ “ไม่ยอม” ปลดล็อก แต่ “ไม่กล้า” ปลดล็อก

ไม่กล้าทั้งที่ได้สร้างเครื่องมืออำนวยความได้เปรียบให้ กับตนเอง พร้อมสกัดกั้นศัตรูฝ่ายตรงข้าม ไว้อย่างมากมาย

ไม่ว่าผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญ ผสมผสานกับเนื้อหาในกฎหมายลูกฉบับ “อันซีน” ที่ไม่เพียงมี เป้าหมายทำลายพรรคการเมือง ด้วยระบบการคำนวณคะแนนเลือกตั้งส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม อันพิสดาร ล้ำลึกแห่งเดียวในโลก

ยังเปิดโอกาสให้ส.ว. 250 คนที่ตนเองเลือกเข้ามา มีส่วนร่วมโหวตเลือกนายกฯ “คนนอก” ที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. กำหนดแผนปฏิรูปประเทศ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจครอบคลุมทุกองค์กร รวมถึงรัฐบาลในอนาคต ฯลฯ

แม้ล่าสุดจะออกมาจุดพลุเปิดประเด็น เตรียมจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ก่อนเลือกตั้งทั่วไประดับชาติ ก็ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงการผ่อนแรงกดดัน กลบกระแสเรียกร้องปลดล็อกพรรคการเมือง

เพราะเอาเข้าจริงการเลือกตั้งท้องถิ่นยังมีขั้นตอน อีกไกล กว่าจะเป็นจริง เนื่องจากรัฐบาลต้องไปแก้ไขกฎหมายเกี่ยวข้อง 6 ฉบับ ซึ่งต้องใช้เวลา

รวมถึงปัญหาว่าใครจะเป็นเจ้าภาพจัดเลือกตั้ง กกต.หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังเป็นข้อถกเถียง จนอาจต้องยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตัดสิน

การที่แกนนำคสช.ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร อ้างสาเหตุการไม่ปลดล็อกคำสั่ง 2 ฉบับ เนื่องจากยังมีร่องรอยของการเคลื่อนไหวเตรียมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองอยู่นั้น

ไม่เพียงขัดแย้งกันเองกับการที่รัฐบาลคสช. มักหยิบเอาผลงานด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้ง สร้างความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง มาชูเป็นอันดับหนึ่ง

ยังสะท้อนให้เห็นชัดแจ้งว่า อำนาจมาตรา 44 และคำสั่งคสช. มีสถานะ อยู่เหนือกฎหมายพรรคการเมือง และ ยังเหนือกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเสีย ด้วยซ้ำ

ฝ่ายพรรคการเมืองมองว่า การที่คสช.ยังไม่ปลดล็อก

เหตุผลเรื่องการป้องกันความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง น่าจะเป็นเรื่องรองลงไปจากสาเหตุด้าน “ความกลัว” และความ “หวาดหวั่นใจ” ของคสช.

เพราะไม่ว่าจะตกเป็นฝ่ายโดนรุกไล่อย่างหนักมาตลอด 3-4 ปี หลายคนก็ยังประเมินด้วยความมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะฟื้นคืนชีพได้หากมีการเลือกตั้ง เหมือนที่เคยทำได้ในการเลือกตั้งปี 2551 หลังการรัฐประหารของคมช.

ประกอบกับผลสำรวจโพลบางสำนัก ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลคสช.มาตลอด แต่จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กลับพบว่า

ฐานสนับสนุนของสาธารณชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลดลงฮวบฮาบจากร้อยละ 78.4 ในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 52.0 ในเดือนพฤศจิกายน ลดลงกว่าร้อยละ 25 ถือว่าไม่ใช่น้อยๆ

ยิ่งหากรัฐบาลและคสช.ย้อนกลับไปดูผลสำรวจของสถาบันพระปกเกล้าเมื่อเดือนกันยายน ก็อาจจะตกอยู่ในสภาพดูไปขนลุกไป

ที่เหนือกว่าผลสำรวจโพลใดๆ เกี่ยวกับกระแส “ขาขึ้น-ขาลง” ของคสช. ก็คือท่าทีพรรคประชาธิปัตย์

ไม่ว่าต่อเรื่องปัญหาราคายางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ว่าต่อ 6 คำถามของนายกฯ ไม่ว่าต่อสูตรคำนวณส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม ล้วนแต่ออกมาในรูปแบบการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรง ไม่เหมือนคนเคยรักกันมาก่อน

ท่าทีพรรคประชาธิปัตย์ มุมหนึ่งจึงสะท้อน ให้เห็น คสช.ได้เดินมาถึงจุด “ขาลง” แล้วจริงๆ ที่ถึงแม้จะปรับครม. ออกมาหน้าตาดีอย่างไร ก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก

ทั้งหมดนี้จึงเป็นคำตอบ ทำไมคสช.จึงยังกล้ำกลืนฝืนกระแส ไม่ดำเนินการ “ปลดล็อก” ให้กับพรรคการเมือง

ไม่ใช่ไม่ยอม แต่ไม่กล้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน