บทบรรณาธิการ

การทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 5” จะเริ่มต้นในสัปดาห์นี้ได้ทันทีแบบไร้รอยต่อ

หลังจากมีปฏิกิริยาผิดหวังและไม่ผิดหวัง ในสมาชิกเดิมที่ออกไป 9 คน และเปิดทางให้มีสมาชิกใหม่เข้ามา 10 คน รวมกับคนเดิมที่สลับสับเปลี่ยนโยกย้ายกระทรวง

การปรับสมาชิกในรัฐบาลครั้งใหญ่นี้รวม 18 ตำแหน่งระบุว่าเพื่อให้การทำงานบริหารมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นไปตามโรดแม็ป

แต่การทำงานของสมาชิกใหม่กับสมาชิกเดิมจะดีขึ้นได้หรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องที่วัดได้ยาก

การวัดจากตัวเลขทางเศรษฐกิจอาจเป็นวิธีที่สะดวกสำหรับการประเมินผลและเปรียบเทียบ

กรณีตัวเลขการท่องเที่ยวที่รัฐมนตรีคนเดิมแถลง ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.จนถึงวันที่ 21 พ.ค. 2560 สะสมจำนวนถึง 30.9 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ 1.6 ล้านล้านบาท น่าจะสะท้อนการทำงานในระดับที่มีประสิทธิภาพ

หรือตัวเลขการส่งออกในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 10 และตัวเลขจีดีพีที่ขยายตัวอีกเกินร้อยละ 4 ก็น่าจะสะท้อนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจที่น่าฮือฮา

แต่หากวัดจากการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน การจับจ่ายใช้สอย ภาระหนี้สิน การได้รับสวัสดิการของรัฐ จะประเมินผลงานบริหารของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร ยังไม่มีคำตอบ

การหาคำตอบในเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารของรัฐบาลไม่ได้นั้นไม่ใช่ความผิดของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคณะ

เนื่องจากระบบของการบริหารที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ขาดความเชื่อมต่อและเชื่อมโยงกับประชาชน

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะดึงคนเก่งเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาร่วมบริหารกระทรวง ทบวง กรมได้ ก็ไม่อาจจะสร้างโครงข่ายหรือเครือข่ายเชื่อมโยงข้าราชการ เอกชน ชุมชน ประชาชนได้

ไม่อาจได้ยินเสียงสะท้อนปัญหา ทางเสนอแนะ การตรวจสอบ และความต้องการของประชาชนอย่างครอบคลุมและตรงไปตรงมาได้

มีแต่รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นที่สร้างและพัฒนาระบบการบริหารนี้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน