กรณีการร้องเรียนของครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ว่าเป็นแพะในคดีขับรถชน คนตายเมื่อปี 2548 และขอรื้อคดี แต่ศาลฎีกาสั่งยกคำร้องเพราะคำให้การพยานไม่น่าเชื่อถือ จากนั้นจึงเป็นคดีที่พนักงานสืบสวนสอบสวนภ.จว.นครพนม แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกลับยังผู้เกี่ยวข้องในคดี 8 ราย ว่าร่วมกันแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาแก่พนักงานสอบสวนนั้น

ปรากฏเป็นข่าวเริ่มต้นจากเดือนมกราคม ต้นปี 2560 จนมาถึงปัจจุบัน คาดว่าจะกินเวลาไปจนตลอดปีนี้

สิ่งที่ปรากฏในคดีนี้คือกระแสหรืออารมณ์ของคนในสังคมกับข้อเท็จจริง

การตกเป็นแพะในกระบวนการยุติธรรมนั้นเคยเกิดขึ้นในสังคมหลายๆ ประเทศ

มีหลายกรณีที่ผู้ถูกพิพากษาและถูกลงโทษ จำขังได้รับอิสระภายหลัง เมื่อมีการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง ไม่ว่าด้วยพยานหรือหลักฐานที่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น

มีหลายกรณีที่เหยื่อผู้ตกเป็นแพะต้องเสียชีวิตในเรือนจำ หรือได้รับผลกระทบร้ายแรง ต่อสุขภาพ ร่างกายและจิตใจจากการถูกจองจำ เช่น คดีการฆาตกรรมเชอรี่ แอน ดันแคน เมื่อปี 2529 ที่มีการจับแพะจนเป็นรอยด่าง ในประวัติการปฏิบัติงานและภาพลักษณ์ของ เจ้าหน้าที่

ดังนั้นเมื่อมีกรณีการร้องเรียนว่าเป็นแพะเกิดขึ้นอีก จึงเกิดเป็นกระแสสังคมที่ผู้ร้องเรียนมักได้รับความเห็นใจ

อย่างไรก็ตาม กระแสของอารมณ์หรือที่นิยมเรียกว่า ดราม่า ไม่อาจใช้เป็นตัวตัดสิน ข้อเท็จจริงที่ต้องพิสูจน์ทราบ

อีกทั้งยังต้องระมัดระวังการสร้างกระแส ที่อาจเป็นตัวบดบังการคิดพิจารณาอย่างใคร่ครวญอย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วย

ไม่เฉพาะกรณีครูจอมทรัพย์ในช่วงเวลานี้หรือในช่วงเวลาข้างหน้าที่อาจมีผู้ร้องเรียนว่าตกเป็นแพะในอีกหลายคดี สิ่งที่ต้องยึดถือเป็นหลักคือข้อเท็จจริง

หน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงยุติธรรมที่เคยสนับสนุนให้รื้อคดีของครูจอมทรัพย์ รวมถึงผู้ประณามเจ้าหน้าที่ตำรวจไปล่วงหน้า ต้องเรียนรู้บทเรียนครั้งนี้

การเฮโลไปตามกระแสโดยไม่ยั้งคิดถึงข้อเท็จจริงนั้น ทำร้ายประเทศมามากพอแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน