เหตุการณ์ที่กลุ่มชุมชนชาวบ้านในอำเภอเทพาสองกลุ่มยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเพื่อแสดงจุดยืนต่อโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ ทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่คัดค้าน ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในพื้นที่ภาคใต้ ตอกย้ำว่ากลไกประชาธิปไตยสำคัญมากที่จะหาทางออกให้กับกรณีที่ผู้คนเห็นไม่ตรงกัน

เพราะโครงการนี้ไม่ใช่แค่เรื่องว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง แต่หมายถึงผลกระทบที่คนส่วนหนึ่งอาจได้รับประโยชน์ และคนอีกส่วนเสียวิถีชีวิตที่หวงแหน

ส่วนผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นรวมของคนทั้งประเทศ และถ้าระบุว่าของทั้งโลก ก็ไม่ได้ผิดนัก

ไม่ได้อาศัยเพียงคณะกรรมการ ผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โครงการดังกล่าวเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากฝั่งของชุมชนและทางฝั่งของรัฐบาล

ฝ่ายรัฐบาลมีรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีเอชไอเอ และระบุว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมมาโดยตลอด แต่ฝ่ายชุมชนชาวบ้านที่คัดค้านกลับไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรายงานที่มีลักษณะเป็นพิธีกรรม ถึงขั้นเรียกร้องให้ระงับรายงานอีเอชไอเอ และควรจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรายงานอีเอชไอเอว่าเป็นธรรมหรือไม่

เมื่อปฏิกิริยาของชาวบ้านในชุมชนยังเป็นเช่นนี้ กรณีนี้จึงไม่ควรถูกมองข้ามเพราะคิดเพียงว่า มีเอ็นจีโอหรือนักวิชาการที่คอยสนับสนุนให้ค้านทุกเรื่อง หรือชาวบ้านไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าจะทำให้ชาวบ้าน ไว้ใจและเชื่อใจการทำงานของหน่วยราชการและรัฐบาลอย่างไร

ความไว้วางใจของชาวบ้านต่อรัฐบาลและราชการเกิดขึ้นได้ เมื่อประชาชนมั่นใจว่ามีตัวแทนของตนเข้าไปต่อสู้เป็นปากเป็นเสียง และปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนได้อย่างแน่ชัด

ต้องได้รับข้อมูลว่าแผนพัฒนาประเทศไทยต่างๆ นั้นส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมความยั่งยืนของกลุ่มคนต่างๆ ในระยะยาวอย่างไร

ถ้าตัดสินใจว่าเสียงข้างมากสนับสนุน ผลกระทบต่อคนกลุ่มน้อยมีอะไรบ้างและจะมีแผนเยียวยาอย่างไร

ไม่ใช่ให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน