กรณีการเคลื่อนไหวของ “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” กำลังจะเป็น “บทเรียน”สำคัญให้กับคสช.และรัฐบาล

แม้จะเป็นเรื่อง “ชุมชน”และ “สิ่งแวดล้อม”

แต่บทเรียนอันสำคัญและทรงความหมายเป็นอย่างสูงก็คือ บทเรียนในทาง “การเมือง”

ไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือแม้กระทั่ง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด

ก็มีความจำเป็นต้อง “ถอย”

ความจัดเจนแบบที่เคยใช้กับ “วัดพระธรรมกาย” แบบที่เคยใช้กับ “ขอนแก่น โมเดล” แทบไม่มีประโยชน์

เพราะว่าเป็นเดือนพฤศจิกายน 2560

ความหมายอย่างสำคัญของเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ว่าสถานการณ์เริ่มเข้าสู่อีก “มิติ”

ต่างจากหลังเดือนพฤษภาคม 2557

เพราะว่าผ่านเดือนพฤษภาคม 2558 ผ่านเดือนพฤษภาคม 2559 และผ่านเดือนพฤษภาคม 2560 มาแล้ว

เป็นเวลา 3 ปีกว่า

ความจริง คสช.และรัฐบาลน่าจะรับรู้ตั้งแต่มีการเชิญแกนนำ เกษตรกรชาวสวนยางเข้าค่ายทหารที่ตรัง พัทลุงและชุมพร มาแล้ว

รับรู้ว่าไม่น่าจะได้ผล

เพราะว่าปัญหาที่ปะทุขึ้นได้ขยายจาก “การเมือง”ไปยังทางด้าน “เศรษฐกิจ” และ “สิ่งแวดล้อม”แล้ว

หากใช้ “เครื่องมือ”ไม่ถูกต้องก็จะยิ่งสร้าง “ปัญหา”

การใช้เครื่องมือไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมอันมาจากคสช.และรัฐบาลที่เห็นได้อย่างเด่นชัด

นั่นก็คือ กรณีของ “น้องเมย”

พลันที่ปรากฏเสียงตวาดดังกึกก้อง ณ ตลาดปลา ปัตตานี

ประสานเข้ากับส่งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง เข้าจัดการที่สี่แยก สำโรง สงขลา ตามมาด้วยการเปรียบเปรยกรณี “แบมุส”

คสช.และรัฐบาลก็กลายเป็นตำบล “กระสุนตก” อยู่ในสถานะ

“ตั้งรับ”กันอย่างพร้อมเพรียง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน