การทบทวนและพิจารณาแก้ไขพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฉบับที่ พ.ศ.2560 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้ แต่ถูกตีกลับด้วยข้อสาเหตุ 2 เรื่อง

หนึ่งการโซนนิ่งพื้นที่ เดิมแรงงานต่างด้าวจะต้องพักอยู่ในพื้นที่ที่ทำงานของนายจ้างเท่านั้น แต่ในกฎหมายใหม่แก้ไขไม่ให้กำหนดพื้นที่

อีกเรื่องเป็นอัตราโทษในการทำความผิด ไม่สัมพันธ์กับฐานความผิด บางกรณียังโทษรุนแรงเกินไปเพราะไปเปรียบเทียบกับโทษของการค้ามนุษย์

ที่ประชุมจึงเห็นควรให้กลับไปปรับทั้งสองเรื่องร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เหมาะสมก่อนจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาใหม่

พ.ร.ก.ฉบับนี้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2560 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดมา แต่ต่อมาต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกประกาศเลื่อนผลบังคับ ใช้บางมาตราออกไป 180 วัน ให้มีผลวันที่ 1 มกราคม 2561

กฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดความหวั่นไหวไปทั่ว เนื่องจากสถานการณ์จริงกับกฎหมายที่ต้องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวครั้งใหญ่นั้นขาดการพิจารณาร่วมกัน ไม่ว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว หรือกลุ่มประกอบภัตตาคารร้านอาหารที่เต็มไปด้วยพนักงานจากชาติเพื่อนบ้าน ไม่ว่าผู้ทำงานเดินบิล เสิร์ฟ หรือ ผู้ปรุงอาหาร

อีกทั้งยังทำให้เกิดข้อน่าวิตกว่าจะเป็นช่องทางของการเรียกรับเงินสูงขึ้นจากผู้ที่ต้องการเลี่ยงกฎหมาย

ในส่วนของบทลงโทษที่พยายามจะปิดช่องไม่ให้เกิดการทุจริต จึงกำหนดไว้เป็นโทษรุนแรง เช่น ผู้ใดรับต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน ปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน

กรณีของคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

ขณะนี้เมื่อต้องทบทวนกฎหมายนี้แล้ว จึงไม่ควรพิจารณาอยู่ในวงแคบๆ อีก ควรเปิดรับฟังให้รอบด้านและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและความวุ่นวาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน