เหตุการณ์รถกระบะขับย้อนศรชนมหาวินาศที่เมืองพัทยาครั้งล่าสุด ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาหาแนวทางและวิธีการป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก

สาเหตุเนื่องจากคนขับมีอาการลมชักกำเริบ เกร็งหรือซึมเหม่อ ตัดสินใจไม่ถูก โดยที่ไม่สามารถควบคุมทั้งตนเองและยานพาหนะที่ขับขี่ได้

ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สิน ตลอดจนชีวิตร่างกาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และเสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่ง

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์น่าสลดใจเช่นนี้

สถาบันประสาทวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคลมชักเกิดขึ้นจากความผิดปกติในสมอง กรรมพันธุ์ หรือเนื้องอกในสมองที่ส่งผลให้สมองมีความผิดปกติ

ผู้ป่วยจะมีอาการชักอยู่สองแบบคือ ชักกระตุก ชักเกร็ง หรือ นิ่ง เหม่อลอย สถิติขณะนี้คาดว่ามีคนไทยเป็นโรคลมชักประมาณ 600,000 -700,000 คน

ขณะที่แพทยสภาระบุว่าในจำนวนผู้ป่วยชาวไทยที่เป็นโรคลมชักกว่า 1,000,000 คน พบว่ามีอยู่ประมาณ 1 แสนคนที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ส่วนกรมควบคุมโรคระบุปัญหาทางสุขภาพที่มีผลต่อการขับขี่ยานพาหนะ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายและอุบัติเหตุ มีอยู่ 9 ประเภท ได้แก่

โรคที่เกี่ยวกับสายตา โรคทางสมองที่ยังเป็นไม่มาก โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคลมชัก โรคไขข้อ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่างๆ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และการรับประทานยาหลายชนิดรวมกัน

ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกก็พยายามหารือกับแพทยสภา เพื่อกำหนดข้อห้ามไม่ออกใบอนุญาตขับขี่แก่บุคคลที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

ขณะนี้ถึงเวลาที่สมควรแล้วหรือไม่ที่จะเร่งหารือร่วมกัน ในอันที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหานี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน