การสรรหากกต.ได้รายชื่อครบถ้วนทั้ง 7 คนแล้ว *

ก่อนที่สนช.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบ มีความเห็นจากหลายฝ่ายถึงโฉมหน้าว่าที่กกต.ชุดใหม่

ดูจากรายชื่อมีบางคนมาจากสายคสช. บ้างก็ว่าแม้ไม่มีทหารแต่ผู้กุมอำนาจยังคอนโทรลได้ บางคนก็ว่าขาดตัวแทนภาคสังคม

ในมุมมองของนักวิชาการเห็นเหมือนหรือต่างจากนี้ และคาดหวังกับกกต.ชุดใหม่ มากน้อยแค่ไหน

โคทม อารียา

ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

พิจารณาจากองค์ประกอบของ กกต.ชุดใหม่แล้ว แม้จะไม่ได้ดั่งใจนักเพราะยังขาดในส่วนของตัวแทนภาคประชาสังคม จิตอาสา หรือคนที่เข้าใจการมีส่วนร่วมหรือมุมมองในเชิงสิทธิเสรีภาพ แต่ก็คงต้องให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่

ส่วนข้อสังเกตว่ากกต.บางคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจในคสช. นั้น คนที่เคยทำงานในระบบราชการมายาวนานและมีความก้าวหน้าในระบบราชการ มักมีชุดความคิดความเชื่อไปในระบบบริหารราชการ การบริหารงานให้เป็นไปตามระบบระเบียบ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่บุคคลนั้นจะมีความเห็นหรือความเชื่อสอดคล้องกัน

แต่อย่าเพิ่งไปวิจารณ์ว่าเขาจะคิดเหมือนกัน หรือทำงานแบบรับลูกอะไร อย่างไรหรือไม่ คงต้องให้โอกาสให้กกต.ชุดใหม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองก่อน ซึ่งโดยหลักการทำหน้าที่แล้ว กกต.ต้องยึดหลักความเป็นอิสระ

ส่วนว่า กกต.ชุดใหม่จะปฏิบัติหน้าที่ หรือรับมือกับกติกาใหม่ในช่วงสถานการณ์การเมืองที่ไม่ธรรมดาได้หรือไม่นั้น ก็คงต้องติดตามดูกัน

ส่วนตัวเห็นว่าหลายคนที่เข้ามาเป็น กกต.ล้วนผ่านการเป็นผู้บริหารตามระบบราชการ เป็นผู้พิพากษาและเป็นทนายความกันมาแล้ว น่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รวมถึงมีความเข้าใจและคุ้นชินกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงไม่มีอะไรน่าห่วง

แต่ห่วงเรื่องความเข้าใจด้านประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หากองค์กรใดไม่มีความเข้าใจหรือไม่ให้ความสำคัญส่วนนี้ อาจมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำหน้าที่

ขอให้ กกต.ชุดใหม่ทุกคนมีความตั้งใจ ทุ่มเททั้งเวลาและความสามารถทั้งหมดที่มีปฎิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระ ให้สมกับที่สังคมฝากความไว้วางใจ

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ว่าที่กกต.ทั้ง 7 คน โดยเฉพาะ 5 คน ที่มาจากการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา จะพบว่าแต่ละคนไม่มีประสบการณ์ทางตรงที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและการเลือกตั้ง เกิดจากการเน้นวางคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับส่วนบุคคลมากเกินไป

แต่กลับไม่เน้นเรื่องความรู้และประสบการณ์ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง จึงทำให้คนที่สมบัติที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรงไม่ผ่านคุณสมบัติขั้นเทพเพื่อเข้ารับการสรรหาได้

ภาพรวมของว่าที่กกต.ชุดนี้จึงมากด้วยอดีตข้าราชการ หากมองงานกกต.ในแง่การทำหน้าที่เพียงประสานงาน จึงไม่แปลก อดีตข้าราชการอาจพอทำหน้าที่เหล่านี้ได้

ทว่าการจัดการเลือกตั้งต้องคำนึงถึงหลัก free and fair ด้วย หากมีผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ตรง ก็อาจจะส่งผลให้เชื่อได้ว่า การเลือกตั้งจะมีประสิทธิภาพสูง

ขณะเดียวกัน กกต.ก็จำเป็นต้องมีผู้ที่มีประสบการณ์ในแง่การตรวจสอบ เฝ้าติดตามการเลือกตั้งจากภาคประชาสังคมด้วย เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ ประสบการณ์เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับกกต. เพราะต้องรักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ยิ่งปัจจุบันกำหนดให้กกต.มีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณามากขึ้น เช่น การตัดสิทธิเลือกตั้ง การสั่งยุติการเลือกตั้ง

การขาดประสบการณ์จึงอาจส่งผลต่อการตัดสินใจ ที่อาจก่อปัญหาหรือล่าช้าจนทำให้ผลงานเกิดประสิทธิภาพน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

สำหรับการเข้ารับหน้าที่ในช่วงระยะเวลาที่สำคัญในการเลือกตั้งเดือนพ.ย.2561 ที่หากจะมีนั้น ในภาพกว้างว่าที่ 7 กกต.ชุดใหม่ น่าจะทำงานได้ ในมุมของการประสานงาน เพราะมีอดีต ผู้ว่าฯ มีนักบริหาร ในขณะที่ฝ่ายกฎหมายแม้ไม่มีประสบการณ์แต่ก็มาจากหน่วยงานยุติธรรมที่บังคับใช้กฎหมายโดยตรง ส่วนพนักงานกกต.ก็คงต้องทำงานหนักมากขึ้นในช่วงแรก

จุดที่ยังขาดคือภาคประชาสังคม ดังนั้น กกต.ชุดใหม่ คงต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างกว้างขวางมากที่สุด ตามที่มีกลไกการคัดเลือกประชาชนมาทำหน้าที่ผู้สังเกตการการเลือกตั้ง

ส่วนที่สังคมตั้งข้อสังเกตถึงว่าที่กกต.บางรายมีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจตอนนี้ จะส่งผลต่อการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งที่จะถึงนั้น คงเป็นข้อครหาสำหรับทุกองค์กรที่มีการแต่งตั้งบุคคลในห้วงเวลานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ก็เป็นสิ่งที่ กกต.ชุดใหม่ต้องพิสูจน์ในการทำหน้าที่ ยิ่งสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวก็อาจเป็นข้อดีในการพิสูจน์ หากวางตัวเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปทางไหน ข้อครหาเหล่านี้ก็จะหายไปเอง

หากจะให้คะแนนหน้าตาว่าที่กกต.ใหม่ คงอยู่ที่ 5 เต็ม 10 เพราะดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละคนเป็นหลัก แต่คะแนนสามารถเพิ่มขึ้นได้เมื่อแต่ละคนเข้ารับหน้าที่และมีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น

ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ

อดีตเลขาธิการ กกต.

ก่อนอื่นต้องบอกว่ากฎหมายกำหนดคุณสมบัติกกต.ไว้เลอเลิศ แต่ปัญหาคืองานด้านการเลือกตั้งต้องการคนคลีน มีจิตวิญญาณ รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมนักการเมือง ไม่ได้ว่าเขาไม่รู้ แต่ไม่รู้ว่าเขารู้แค่ไหน

เพราะกกต.แบ่งเป็น 5 ฝ่ายในการรับผิดชอบ ภารกิจงานทั้ง 5 ฝ่ายไม่ทราบว่าทั้ง 7 คนจะแบ่งอย่างไร แม้จะมีประสบการณ์บริหารแต่งานด้านการเลือกตั้งคาดหวังว่าได้คนดีมีอุดมการณ์มาพัฒนาระบบการเลือกตั้งให้ดีและขจัดคนชั่วออกไป ไม่อยากให้เหมือน กกต.ชุดที่ผ่านๆมา เพราะมีจุดอ่อนเยอะ

ดังนั้นทั้ง 7 คน ควรพร้อมจะรับภารกิจไปปรับปรุงพัฒนาหน่วยงานต่างๆ ให้เข้มแข็งตรงไปตรงมา สุจริต เที่ยงธรรม ตามอุดมการณ์ก็ถือเป็นบุญของประเทศไทยแล้ว

ที่ไม่มีตัวแทนจากเอ็นจีโอเข้ามาเป็นกกต.เหมือนที่ผ่านมา เป็นเพราะคุณสมบัติอาจไม่ถึง เรื่องของการมีส่วนร่วมต้องเชื่อมถึงกัน ก็ไม่รู้ว่า ทั้ง 7 คนจะมีบทบาทอย่างไร

สวนคนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง อย่าง นายประชา เตรัตน์ ที่มาจากสายปกครอง ทำให้นึกถึงนายยุวรัตน์ กมลเวชช อดีตกกต. ก็มาจากสายปกครองเหมือนกัน ที่มีจิตวิญาณการเลือกตั้ง รู้ทันเล่ห์เหลี่ยม

อย่างไรก็ตามว่าที่กกต.ทั้ง 7 คนมีเจตนาดีที่สมัครเป็นกกต. จึงเชื่อว่าต้องกระตือรือร้นและต้องคิดแล้วว่าทำงานได้ถึงได้เข้ามาสมัคร

ส่วนการทำงานของ กกต.ชุดใหม่ที่ต้องเข้ามาจัดการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่และในสถานการณ์ที่ไม่ธรรมดานั้น การเป็นนักบริหารเมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องปรับ และต้องรู้จักใช้คน

คนในกกต.มีระบบ มีการแบ่งชั้นผู้บังคับบัญชาสายงานอยู่แล้ว แต่ละคนมีประสบการณ์เป็น 10-20 ปี ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะใช้และคุมเขาได้อย่างไร

ภารกิจของกกต.ชุดใหม่ถือว่าหนัก เพราะเมื่อเข้าไปทำหน้าที่ก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทันที จะหยุดนิ่งไม่ได้ ถือเป็นการเข้าสู่สนามรบ ซึ่งไม่ใช่รบย่อยแต่เป็นการรบแบบเอากันตาย สู้ไม่ได้แพ้คือติดคุก

หมายความว่านักการเมืองบางส่วนก็ต้องดิ้นต้องชนะเพื่อความอยู่รอด ถ้าชนะได้เสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาล ดังนั้นกกต.ต้องเข้ม ไม่รู้ว่ากกต.ชุดใหม่พร้อมจะรับมือหรือไม่ เพราะการสู้ศึกคราวนี้กกต.ใหม่ไม่ได้ไปสู้กับเสือ สิง กระทิง แรดธรรมดา แต่เป็นพญาเสือ พญากระทิง

อย่างไรก็ตาม จากรายชื่อ 7 คน ยังขาดคนที่รู้เรื่องจัดการเลือกตั้งซึ่งเป็นการเลือกตั้งระบบใหม่ ดังนั้นต้องศึกษาจากงานเก่า เมื่ออยากเป็นกกต.ต้องรู้ภูมิหน้าภูมิหลัง ถ้ารู้ภูมิหน้าและภูมิหลังก็จะรู้ว่าจะเดินอย่างไรจะได้ไม่พลาด

ที่ผ่านมามีการติดคุกก็ต้องดูด้วย จะเดินดุ่ยๆ ไปไม่ได้ และกกต.ที่คัดมาก็น่าจะได้แก่นแล้วเพราะสมัครมาจำนวนมาก

วิโรจน์ อาลี

คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

จากรายชื่อ นายประชา เตรัตน์ อดีตผู้ว่าฯหลายจังหวัดยังพอมีผลงานให้เห็น ขณะเดียวกันมีอธิการบดี 2 คน มีทนายความ แต่การทำงานของกกต.ค่อนข้างสลับซับซ้อนทางกฎหมายพอสมควร ไม่แน่ใจว่าสเป๊กเทพที่กรธ.ตั้งไว้กับคนที่ได้ในกรณีบางคนจะสอดคล้องกัน หรือไม่

ในฐานะมองจากคนนอกรายชื่อที่ได้ไม่ค่อยเข้าตาเท่าที่ควร หรือจะเข้ากับบทบาทหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่อีกหลายคนคุณสมบัติไม่ผ่านก็เกิดข้อกังขา มีประเด็นที่ทำให้เกิดข้อสงสัยได้และก็เสียดายความรู้ความสามารถ

ส่วนบางคนที่มีความสัมพันธ์กับคสช.ก็ต้องดูการทำงานไปก่อน แต่คนที่ใกล้ชิดกับคสช.มากๆ ก็ดูไม่ค่อยเหมาะสม เพราะกรธ.บอกอยู่ตลอดว่าอยากให้ได้คนที่เป็นกลาง โปร่งใส สเป๊กขั้นเทพ แต่ดูแล้วก็ยังมีข้อกังขาอยู่พอสมควร

หรือหากใกล้ชิดกันมากคณะกรรมการสรรหาก็ไม่ควรให้ผ่านเข้ามา เช่นแม้จะบอกว่าเป็นเพียงที่ปรึกษา คสช.ไม่ได้แต่งตั้ง หรือเคยเป็นสมาชิก สปท.มาก่อน หรือเป็นตำแหน่งทางวิชาการก็ฟังไม่ขึ้น

กรรมการสรรหาควรเข้มงวดเพื่อทำให้ภาพการตรวจสอบ การได้บุคคลมาเกิดประโยชน์จริงๆตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมถึงความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชน ที่ต้องการให้กกต.เป็นกลาง จึงรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าที่ควร

สำหรับกกต.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ช่วงใช้กฎหมายใหม่หรือช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญนั้น ทุกอย่างต้องใช้เวลา ต้องลองทำไปก่อน และดูการตัดสินใจตอนเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งทั่วไป อาจเป็นการซ้อมการทำงานของกกต.

ขณะเดียวกัน กกต.มีสำนักงานซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านการเลือกตั้งมา ยาวนานพอสมควร จะเป็นส่วนเสริมที่ทำให้กกต.ใหม่ทำงานได้ แต่สำคัญที่สุดคือต้องใช้เวลา

และมองว่าการคัดเลือกรอบนี้ไม่มีส่วนของเอ็นจีโอเลย ซึ่งอยากเห็นคนของภาคประชาสังคมมากกว่านี้ อาจเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจด้านรัฐศาสตร์ มากกว่านี้ และแน่นอนว่าต้องไม่เป็นที่กังขาของสังคมว่าใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจมากเกินไป

หากต้องให้คะแนนรายชื่อกกต.ใหม่ จากเต็ม 10 คะแนน คงให้ 6 คะแนน เพราะต้องให้โอกาสทำงาน เพราะส่วนหนึ่งคือเรื่องคุณสมบัติที่ถูกออกแบบมา โดยกรธ. จะไปลงที่ผู้สมัครหรือกรรมการสรรหาอย่างเดียวไม่ได้ ก็คงให้โอกาสทำงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน