ยังคงมีเสียงวิจารณ์ต่อเนื่อง ภายหลัง สนช.มีมติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ยาว ทั้งในส่วนที่คุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ และที่หมดวาระลงแล้ว

และมีคำถามด้วยว่าเหตุใด กรธ.ไม่ใช้สิทธิ์โต้แย้ง สนช.ถึงสถานะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว
และจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างในอนาคต

มีความเห็นจากนักวิชาการ และอดีตผู้พิพากษา

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

กรณี กรธ.ไม่ใช้สิทธิ์โต้แย้งประเด็นที่ สนช.แก้ไขบทเฉพาะกาล ร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญต่ออายุให้กับศาล รธน.นั้น ต้องยอมรับว่ามีความเชื่อว่าขณะนี้มีการต่อรอง หรือการมองตัวไว้แล้ว เมื่อเชื่ออย่างนั้นไปแล้วก็เลยไม่อยากพูดเพราะจะทำให้คนขาดความน่าเชื่อถือ

คือตราบใดที่เซ็ตไม่เหมือนกัน ในส่วนของ กกต.ใช้วิธีเซ็ตซีโร่ทันที แต่ในทางกลับกันศาลรัฐธรรมนูญกลับใช้วิธีเซ็ตเฉพาะบางส่วน

ที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญไปเซ็ตว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งมาคุณสมบัติไม่ถึงตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญใหม่ ในข้อเท็จจริงต้องรับผิดชอบ แต่กลับกลายเป็นว่าต้องให้เป็นต่อเพราะได้พ้นจากงานต่างๆ มาหมดแล้ว

เหตุผลตรงนี้ไม่เพียงพอ และถึงแม้ว่าจะมีอำนาจพิเศษ ถึงจะใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่น่าจะใหญ่ไปกว่ารัฐธรรมนูญ และไม่น่าที่จะไปขัดกับรัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือเป็นรอยด่างของความน่าเชื่อถือ ความน่าเชื่อถือต่างๆ ก็จะลดลงไป คำพูดที่ว่ามีการวางตัวกันไว้แล้วก็จะเกิดความระแวงว่าเป็นไปตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์จริงๆ และไม่ใช่แค่ว่าเสี่ยงจะถูกวิจารณ์ แต่มันโดนแน่ๆ

การต่ออายุให้ศาลรัฐธรรมนูญเกิดข้อเสียก็เพราะไม่มีมาตรฐาน แต่ถ้าเป็นแบบนี้ในทุกองค์กรยังพอจะยกน้ำหนักให้ได้ แต่ครั้งนี้ต่างกันไปหมดในมาตรฐาน เรียกว่าไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันเลย แล้วจะยอมรับได้อย่างไร

แน่นอนว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อความสง่างามของศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนปกครองโดยการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าจะเกิดข้อขัดแย้งอะไรก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน และยังสามารถวางมาตรการต่างๆ ได้ด้วย

ยิ่งทำให้มองได้ว่ามีการกำหนดบุคคลไว้ล่วงหน้า เพราะอย่าลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถชี้แนะกับองค์กรอื่นๆ ได้ ชี้แนะมาตรการแก้วิกฤตต่างๆ ได้

ดังนั้น เวลาที่เกิดวิกฤตอะไรขึ้นมา เมื่อมีผลวินิจฉัยอะไรออกมาก็จะมีเสียงนินทาว่าเข้าข้างนั้น เข้าข้างนี้ ที่ สนช.มีมติออกมาแบบนี้ การส่งผลกระทบต่อบรรทัดฐานก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งเกิดมาตั้งแต่เริ่มแล้ว ความน่าเชื่อถือจะลดลงไป เพราะคนก็จ้องกันอยู่แล้ว

การเมืองที่แบ่งฝ่ายมันลำบากถ้าไม่มีมาตรฐาน แม้แต่มีมาตรฐานก็ยังโดนเลย แล้วยิ่งถ้าไม่มีมาตรฐานจะไม่หนักยิ่งกว่าหรือ

ปัญหามีตั้งแต่รัฐธรรมนูญออกมาแล้ว โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวิจารณ์ว่ามาตามความต้องการของกลุ่มมีอำนาจ ถึงวันนี้ก็กลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือประกอบหนึ่งเพื่อรักษาความมีอำนาจของฝ่ายหนึ่งไว้

เมื่อออกมาเป็นแบบนี้คงไม่กล้าเสนอแนะอะไรได้ เพราะเชื่อว่าพูดอะไรไปเขาคงไม่ฟัง เพราะเสียงวิจารณ์ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น มันเกิดมาตั้งแต่เขาเริ่มพิจารณา

วันนี้ถ้าให้มองหรือวิจารณ์กันจริงๆ ก็ต้องบอกว่ามองไม่เห็นข้อดีอะไรเลย

 

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักกฎหมายมหาชน

เชื่อว่ากรธ.ไม่ได้อยากเกียร์ว่าง กรณีไม่มีความเห็นแย้งมติสนช.ที่ให้ตุลาการ 5 ราย ที่พ้นวาระไปแล้วอยู่ในตำแหน่งต่อจนเปิดสภา

แต่เกิดจากการที่กรธ.ไม่อยากแพ้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่า กรธ.งัดข้อกับศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเอกสารเล็กๆ น้อยๆ ก็โต้แย้งกัน

ที่เห็นชัดคือ การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำถามพ่วงที่เสนอโดยสนช.แล้วผ่านการทำประชามติ ผลที่ออกมาศาลก็ชี้แตกต่างไปจากที่กรธ.ให้ความเห็นไว้ สุดท้ายก็ต้องมีการปรับแก้ให้สอดคล้องตามคำวินิจฉัยของศาล

กรธ.ภายใต้การนำของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ จึงต้องปล่อยให้เลยตามเลย ในการยืดอายุ 5 ตุลาการ
ต่อกรณีดังกล่าวผลกระทบทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นคือ 5 ตุลาการ ที่ได้อยู่ต่อไปแม้จะครบวาระแล้วก็ตาม การทำหน้าที่วินิจฉัยก็เป็นไปได้สูงต้องตีความค่อนไปในทางผู้มีอำนาจ

ให้จับตาดูกรณีกลุ่มนักศึกษาที่กำลังจะยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ คำสั่งคสช.ที่ 3/2557 ตามมาตรา 44

ทิศทางการบังคับใช้กฎหมายจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองไปตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ ซึ่งผลเสียคือระบบกฎหมายจะล้มละลาย แต่ขณะเดียวกันก็มีความหวังอยู่บ้าง หากกฎหมายมันพังมากๆ ก็อาจก่อให้เกิดกระแสตีกลับให้สังคมทบทวนในสิ่งที่เกิดขึ้น

แทนที่ศาลรัฐธรรมนูญควรจะเป็นทางออก หรือคลี่คลายความขัดแย้งทางสังคม กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมา ก็สุ่มเสี่ยงจะก่อให้เกิดความไม่สงบทางการเมือง

ในแง่ความน่าเชื่อถือนั้นชัดเจนมาโดยตลอดอยู่แล้ว ห่วงก็แต่ว่าต่อไปสังคมจะรู้สึกสิ้นหวังในหลักนิติธรรม แล้วการเมืองก็จะเละ

 

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตกรรมการป.ป.ช., อดีตผู้พิพากษา

การที่ กรธ.ไม่ใช้สิทธิ์โต้แย้งประเด็นที่สนช.แก้บทเฉพาะกาลให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ยาว จนมีการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกนั้น เห็นว่าอะไรที่เป็นผลเสียหายแก่บุคคลจะใช้ย้อนหลังไม่ได้

แต่ก็ยังแปลกใจว่าทำไม่บางองค์กรเซ็ตซีโร่ บางองค์กรไม่เซ็ตซีโร่ เพราะถ้าจะทำก็ควรทำเหมือนกัน ควรยึดหลักนิติธรรมและแนวของศาลฎีกาที่มีออกมาแล้วว่าสิ่งที่เป็นผลร้ายแก่บุคคลใช้ย้อนหลังไม่ได้

การต่ออายุตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ เมื่อเป็นกฎหมายมีลักษณะอย่างนี้ เชื่อว่าจะมีการคัดค้านและการวิพากษ์วิจารณ์ออกมาจากนักวิชาการ

เพราะประเทศต้องปกครองโดยอาศัยหลักกฎหมาย เมื่อไม่เป็นไปตามระบบก็ต้องมีคนคัดค้านและไม่เห็นด้วย การที่จะปรองดองกันก็จะลำบาก ทั้งที่รัฐบาลมีนโยบายสร้างความปรองดอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะกระทบต่อความสง่างามของศาลรัฐธรรมนูญเอง เพราะมีอำนาจชี้ขาดคุณสมบัติองค์กรอื่น ที่ผ่านมาเคยตีความไว้ เช่น ที่มีการแก้กฎหมายให้ยกเลิกส.ว. โดยตีความว่าจะกลายเป็นสภาผัวสภาเมีย ดังนั้น ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเองต้องรักษาอย่างเคร่งครัดจึงจะสง่างาม

อะไรที่อยู่กับศาลต้องทำให้เกิดศรัทธา เมื่อไรประชาชนหมดศรัทธาก็ลำบาก และถ้ามีคนคัดค้านไม่เห็นด้วยก็แสดงว่าเขาเกิดวิกฤตศรัทธาในตัวเราแล้ว ก็ทำให้ศาลทำงานยาก และจะมีการโต้กันไปโต้กันมาจนขาดความปรองดอง

แน่นอนว่าคำชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญยังมีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้น การทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็จะกระทบต่อบรรทัดฐานการตีความและความน่าเชื่อถือ

เพราะเมื่อการได้มาซึ่งหน้าที่ไม่สง่างามแล้วหากจะวินิจฉัยอะไรไป คนเขาก็จะบอกว่าที่ว่าผูกพันนั้นก็ไม่ใช่ และไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้น ถ้าอยู่ต่อไปโดยไม่มีความสง่างาม ทำให้คนไม่เกรงใจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาในอนาคตที่จะตามมาคือความวุ่นวายจะเกิดขึ้นในสังคมไทย ดังนั้น ก็ควรต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายที่ถูกต้อง อย่าให้มีการตีความ หรืออย่าทำให้กฎหมายบิดเบี้ยวไปเลย

 

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

กรธ.คงเข้าใจว่าบรรดาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าใจบทบาทของตัวเอง กรธ.ไม่มีเหตุผลอื่น เพียงแต่คงมีการพูดคุยกันแล้ว แต่ก็มีเรื่องคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกัน จึงให้อยู่ต่อไปจนกว่าชุดใหม่จะมาทำหน้าที่

ประชาชนทั่วไปมีจำนวนน้อยมากที่จะสนใจเรื่องของอำนาจหน้าที่และบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ คงไม่มีใครไปติดตามทุกเรื่อง แม้แต่นักกฎหมายเองจะมีสักกี่คนที่อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง

ไม่ว่าจะต่อหรือไม่ต่ออายุศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีผลต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความซื่อสัตย์ สุจริต ตรงไปตรงมา ถ้าไม่อคติก็จะเป็นที่พึ่งของประเทศ ซึ่งไม่กระทบกับการทำงานหากคนนั้นเป็นคนดีจริง

แต่ถามว่าที่ผ่านมาบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่พึ่งได้หรือไม่ ประชาชนต้องวินิจฉัยกันเอง สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาคือคนกลุ่มนี้ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีอำนาจ ไม่เหมือนกับ กกต.ที่ผู้มีอำนาจอาจไม่ไว้วางใจ

ส่วนเรื่องความสง่างาม เขาจะสนใจทำไมในเมื่อกฎหมายเขียนเข้าข้างเขาแล้ว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายที่เมื่อเกิดความไม่สง่างาม บรรดานักวิชาการไม่ออกมาพูดตามหลักการและอุดมการณ์ตัวเอง แม้บางครั้งจะไม่เห็นทางชนะแต่ก็ต้องทำเพราะอุดมการณ์ที่มีอยู่มีคุณค่า

ขณะนี้หากพูดถึงคุณภาพประชากรของประเทศไทยไม่สามารถเป็นนักประชาธิปไตยได้เลย หาคนที่มีอุดมการณ์ยากมาก ถ้าไม่เงียบก็เป็นเครื่องมือของเผด็จการ ดังนั้น สังคมไทยจะต่อสู้ทางการเมืองเป็นเรื่องยาก คนไทยต้องสร้างพลัง ทำให้คนตื่นตัว

หากเกิดสิ่งเหล่านี้คนที่เข้ามาอยู่ในอำนาจก็จะระมัดระวังการทำหน้าที่มากขึ้น แต่ในเมื่อปัจจุบันไม่มีใครสนใจ ผู้มีอำนาจก็เอาประโยชน์ของเขาเป็นหลัก ไม่เคยคิดว่าสง่างามหรือไม่

ส่วนตัวการคัดเลือกโดยไม่อิงอำนาจของประชาชนไม่มีความสง่างามอยู่แล้ว แต่คนพวกนี้คิดแค่ว่าเป็นหน้าที่ที่ได้รับคัดเลือกมา เขาไม่สนใจ

เมื่อได้เป็นแล้วก็ไม่สนใจว่าจะทำให้คนมองอย่างไร แค่ท่องไว้ว่าเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่ได้กำหนดไว้

บ้านเมืองกลายเป็นเรื่องของคนมีอำนาจที่ใช้อย่างไรก็ได้ ไม่ต้องคำนึงถึงหลักการ คุณธรรม ความถูกต้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน