การทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นที่จับตาของประชาชนมาตลอด เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับฝ่ายการเมือง รวมไปถึงคณะผู้บริหารประเทศ

ความเป็นอิสระและทำงานอย่างตรงไปตรงมาของป.ป.ช. จึงเป็นที่คาดหมายสูง

เพราะการปราบปรามทุจริตต้องมาควบคู่กับความยุติธรรม และความยุติธรรมย่อมหมายรวมถึงการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับทุกคนทุกฝ่าย

หากการทำหน้าที่ในเรื่องต่างๆ ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรม สิ่งเหล่านี้จะ ส่งผลกระทบต่อการทำงานและความน่าเชื่อถือ ของป.ป.ช.

รวมถึงความเป็นองค์กรอิสระโดยรวม

กรณีที่ยังค้างคาอยู่และมีผลกระทบทางจิตใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง คือข้อเรียกร้องให้ป.ป.ช. หยิบยกคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ยกคำร้องไปแล้วขึ้นพิจารณาอีกครั้งตามช่องทางกฎหมาย

หลังจากมีกรณีเปรียบเทียบจากคำพิพากษาของศาลในคดีสลายการชุมนุมปี 2551

แต่ข้อร้องเรียนที่อึกทึกนี้กลับยังเงียบงันอยู่ในป.ป.ช.

เมื่อเทียบกับกรณีการเรียกร้องให้ตรวจสอบทรัพย์สินเครื่องประดับมูลค่าสูงของบุคคลในรัฐบาล ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน

ยังดีที่มีคำตอบว่าอยู่ในขั้นตอนการทำงานการตรวจสอบตามระเบียบปฏิบัติ

แม้ตัวอย่างทั้งสองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ล้วนเป็นเรื่องที่จะมีผลต่อความน่าเชื่อถือ ในการทำงานของป.ป.ช. เช่นเดียวกัน

เป็นความคาดหมายที่ประชาชนจะได้รับ คำอธิบายและชี้แจงอย่างชัดเจนจากป.ป.ช. ในฐานะองค์กรอิสระที่ต้องผดุงให้การใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเท่าเทียม

เพื่อทิศทางการบังคับใช้กฎหมายขององค์กรอิสระ ไม่ว่า ป.ป.ช. กกต. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ หรือศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามระบบ มิใช่ยึดตามตัวบุคคล

แน่นอนว่า ทุกเรื่องไม่ควรมีธงหรือมีคำตอบล่วงหน้า เพียงแต่เมื่อมีข้อสรุป ต้องมีคำอธิบายพร้อมพยานหลักฐาน ให้ทั่วทั้งสังคมได้ความกระจ่างอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน