มติคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป จะปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทย หลังหยุดชะงักไป เพราะการยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557

ออกเป็นแถลงการณ์ละเอียดยิบรวม 14 ข้อ ระบุว่าขณะนี้มีความเหมาะสมที่จะเริ่มกลับมาปรับความสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างช้าๆ

ขณะเดียวกัน ก็ย้ำถึงข้อเรียกร้องให้คืนสู่กระบวนการทางด้านประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วนที่สุด ผ่านการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย รวมถึงเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เป็นจุดยืนเดิมตั้งแต่เริ่มแรก

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปยังกังวลเกี่ยวกับสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และเสรีภาพ ซึ่งถูกลิดรอนอย่างรุนแรง นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังคงเผชิญการคุกคามทางกฎหมายอยู่

สาเหตุที่สหภาพยุโรปมีท่าทีผ่อนปรนขึ้น เพราะเห็นว่ามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 ที่กำหนดให้การเลือกตั้งทั่วไปภายใน 150 วันหลังประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็น 4 ฉบับ

รวมถึงแถลงการณ์หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2560 ที่ระบุว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561

พร้อมกันนี้ก็เรียกร้องให้ประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เหลือ อยู่อย่างเร็วที่สุด รวมทั้งเคารพกำหนดการจัดการเลือกตั้งตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยภายใต้การปกครองโดยคณะรัฐประหาร สูญเสียโอกาสกับการติดต่อกับสังคมโลกอย่างมหาศาล ทั้งในด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนความ ร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป

การที่ประชาคมจากประเทศในยุโรปส่งสัญญาณมา จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข กลับเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพก่อน

การประวิงเวลา ถ่วงรั้ง หรือการพยายามดำเนินการใดๆ ให้การเลือกตั้งเนิ่นช้าออกไป จะยิ่งทำให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสในเวทีโลกเข้าไปอีก ซึ่งไม่สมควรจะเกิดขึ้น

สัญญาณใหม่ที่อียูส่งมาจึงมีความสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน