การอาศัยกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี(ปอท.) อาจเป็นเรื่องปกติยิ่ง

หากจำกัดกรอบอยู่ที่ มาตรา 14(2) พรบ.คอมพิวเตอร์

แต่พลันที่ขยายวงไปยังประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

ก็จะมากด้วยความละเอียดอ่อน

ละเอียดอ่อนเหมือนกรณีของ นายวัฒนา เมืองสุข

ละเอียดอ่อนเหมือนกรณีของ นายประวิตร โรจนพฤกษ์

และพลันที่ลากดึงเอา ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง หรือที่รู้จักในชื่อ”หมวดเจี๊ยบ” เข้ามา

ความละเอียดอ่อนถึงขั้นที่อาจเรียกว่า “อ่อนไหว”

มิใช่เพราะความที่เธอเป็น “ร.ท.” หากแต่ว่าที่ไหลตามมาเป็น ขบวนก็คือ เจ้าหน้าที่ทาง “การทูต”

ความจริง หากทางกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี(ปอท.) จำกัดกรอบอยู่เพียง มาตรา 14(2) พรบ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

ก็อาจเป็นเพียง “หมิ่นประมาท”ธรรมดา

แต่เมื่อขยายกรอบไปยังประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ก็ย่อมเป็นเรื่องทางด้าน “ความมั่นคง”

เป็นเรื่องของการล้มล้างในทาง “การเมือง”

ยิ่งหากเป็น “นักข่าว” อย่าง นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ยิ่งได้รับความสนใจจากในทาง “สากล”

และคล้อยหลังกรณี นายวัฒนา เมืองสุข และ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ มาเป็นกรณีของ ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง เข้าไปอีก

ยิ่งเท่ากับเป็น”แม่เหล็ก”มหึมาดูดดึงความสนใจ

การที่กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี(ปอท.)แสดงความสงสัย

อาจถือเป็นเรื่องปกติในทาง “คดี”

แต่ภายในความสงสัยว่า ที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทาง”การทูต”นั้นเป็นของจริงหรือว่าแอบอ้าง นั่นแหละคือ เครื่อง”เร้า”อย่างทรงความหมายยิ่ง

เปราะบางไม่เพียงแต่ต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หากยังเปราะบางถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ไม่ต่างไปจากการแหย่เข้าลึกใน”รังต่อ รังแตน”

ทั้งยังเป็น “รังแตน” อันมาจากในทาง”สากล”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน