จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดตัวว่าเป็นนักการเมือง และไม่ปิดประตูการเป็นนายกฯคนนอก โดยมีกลุ่มการเมืองเตรียมจัดตั้งพรรคใหม่ และประกาศสนับสนุนให้เป็นนายกฯต่อไปนั้น

นักวิชาการได้สะท้อนมุมมอง พร้อมข้อเสนอแนะต่อบทบาทนักการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ ดังนี้

1.ชำนาญ จันทร์เรือง

นักกฎหมายมหาชน

แน่นอนว่า เกิดจากทหารถูกการเมืองลากออกมาโจมตีเยอะขึ้นเรื่อยๆ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งบอกมาตลอด 7 ครั้งว่า ไม่ใช่นักการเมือง จึงต้องแยกตัวเองและคสช.ออกมาจากสถาบันกองทัพ ด้วยการยอมรับในครั้งที่ 8 ว่า ตัวเองคือนักการเมืองที่มีอดีตเป็นทหาร เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กองทัพถูกโจมตีไปด้วย

เหตุสำคัญเชื่อว่า ปัจจัยภายในกองทัพเอง สอดคล้องตามที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธาองคมนตรีและรัฐบุรุษ ระบุว่ากองหนุนคสช.นั้นใกล้หมดแล้ว เพราะที่ผ่านมาการบริหารงานในฐานะรัฐบาลไม่ดี

โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบการเติบโตของจีดีพีกับเพื่อนบ้านในอาเซียน มันสะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์นั้นขาลอย อำนาจไม่เต็มร้อยเหมือนตอนรัฐประหารใหม่ๆ ที่ยังควบตำแหน่ง ผบ.ทบ.อยู่ ขณะที่กลุ่มทุนซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจก็อยากออกห่าง

ส่วนการยอมรับเช่นนี้หมายถึงการเตรียมตัวเป็นนายกฯคนนอก เมื่อมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปใช่หรือไม่นั้น เมื่อดูจากกลไกในรัฐธรรมนูญประกอบกับกฎหมายลูก ที่เปิดช่องให้ส.ว.ที่คสช.แต่งตั้ง ร่วมกับส.ส.จากการเลือกตั้ง ลงมติเลือกนายกฯ นั้น ก็มีความเป็นไปได้ แต่เชื่อว่าด้วยบุคลิกและผลงานการบริหารที่ผ่านมา จะไม่ได้รับการสนับสนุนต่อไป

การยอมรับในบทบาทนักการเมืองนี้ ไม่เกี่ยวกับโรดแม็ปเลือกตั้งในเดือนพ.ย. 2561 เพราะต้องขึ้นกับการพิจารณากฎหมายเลือกตั้งส.ส. และกฎหมายการได้มาซึ่งส.ว. ในชั้นสนช. ส่วนตัวไม่เชื่อว่า สนช.จะกล้าคว่ำกฎหมายชุดนี้เพื่อยื้อ เลือกตั้ง เพราะกระทบจากนานาชาติและในประเทศ จะมีปัญหาตามมามาก เนื่องจากทุกคนรู้ว่า สนช.ที่ลงเรือแป๊ะ เป็นเนื้อเดียวกันกับคสช.ที่เป็นคนตั้งมา

การประกาศตัวเป็นนักการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ ก็คือการประกาศความพ่ายแพ้นั่นเอง คนที่อมยิ้มแก้มตุ่ยตอนนี้ก็คือนักการเมืองที่ตนเองด่าว่าเลวตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา แต่วันนี้ขอไปเป็นพวกด้วยนั่นแหละ เป็นกรรมการอยู่ดีๆ ไม่ชอบ

แต่เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับในบทบาทนักการเมืองแล้ว สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือ รีบลงจากอำนาจให้เร็วที่สุด เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์คงอยากลงเต็มที แต่บางครั้งอำนาจมันก็เสพติด อาจพะวงตอนขาลง กลัวจะถูกเอาคืนภายหลัง แต่สำหรับตอนนี้ ขนาดมี ม.44 ยังทำอะไรไม่ได้เลย ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

โดยเฉพาะคำสั่งที่ 53/2560 การแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ที่ร่างกันมาเอง หวังช่วยพรรคเล็กที่จะตั้งใหม่แล้วสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แล้วรีเซ็ตพรรคใหญ่หน้าเดิม สุดท้ายมีแต่ปัญหา เหมือนงูกินหาง จะสร้างอุปสรรคให้คนอื่น แต่ก็โดนตัวเองด้วย

พล.อ.ประยุทธ์จึงควรหาทางลงให้เร็วที่สุด หากจะเล่นการเมืองต่อ ควรตั้งพรรคให้ชัด เหมือนอย่าง เสรีมนังคศิลา สหประชาธรรม สามัคคีธรรม ดีกว่าหวังให้พรรคเกิดใหม่ 3-4 พรรค มาสนับสนุนตัวเอง หวังใช้ส.ว. แต่งตั้งมาร่วมหนุน เพราะสุดท้ายแล้วพรรคเหล่านี้จะลำบาก อย่าลืมว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อครั้งนี้ต้องส่งคนลงเขตเยอะๆ ถึงจะมีคะแนนมาคิด

สุดท้ายควรเรียนรู้ 4 ปีที่ผ่านมาด้วยว่า แทนที่จะดีขึ้น แต่ทุกอย่างกลับแย่ลง ติดหัวแถวของชาติที่กองทัพออกมายึดอำนาจมากที่สุด ควรเข้าใจได้แล้วว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แก้ปัญหา ประชาธิปไตยต่างหากที่ต้องยึดถือ ให้ประชาชนตัดสินใจเรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูกเอา

2.ยุทธพร อิสรชัย

อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นจากอดีต ซึ่งหลายฝ่ายเคยคาดการณ์ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะลงเล่นการเมือง อาจจะเป็นรูปแบบการเป็นนายกฯรับเชิญหรือนายกฯคนนอก หรืออาจจะมีพรรคของคสช. และพรรคทหารโดยตรง หรือการไม่เปิดตัวเป็นพรรคทหาร แต่มีแนวทางและนโยบายที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์

ก่อนหน้านี้จะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธมาตลอด แต่เมื่อพูดว่าได้เป็นนักการเมืองแล้ว ยิ่งสอดรับกับหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งอาจเป็นปฏิทินที่วางไว้ การไม่ปลดล็อกพรรค การยังคงไว้ซึ่งมาตรา 44 หรือการมีพรรคทหารหรือพรรคคสช. ทุกสิ่งทุกอย่างสอดรับกันหมด ทำให้สังคมวิจารณ์ได้

ผมเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้คงไว้ซึ่งมาตรา 44 ที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองใหม่ ไประดมสมาชิกพรรคได้ ถ้าเปิดตัวพรรคใหม่ก็ต้องเปิดตัวผู้สนับสนุนว่าใครจะเป็น นายกฯ ซึ่งมีผลต่อการเรียกคนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคได้ และปัจจัยที่เกี่ยวกับการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง

ถ้าเป็นไปตามนี้ในวันที่ 1 เม.ย. พรรคเก่าก็สามารถเคลื่อนไหวได้ในส่วนของการตรวจสอบสมาชิก ดังนั้น ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ชิงเปิดตัวตอนนี้ สองพรรคใหญ่ก็จะได้เปรียบ

ส่วนทิศทางการเมืองไทยต่อจากนี้ น่าจับตาว่าจะเป็นอย่างไร เช่น การวิจารณ์จากฝ่ายการเมืองที่จะมากขึ้น เพราะเป็นนักการเมืองเหมือนกันแล้ว จะเห็นว่าทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ยินดีต้อนรับเข้าสู่โหมดนักการเมือง

สำหรับท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ หลังจากนี้หากบอกว่าตัวเองเป็นนักการเมืองแล้ว ต้องบอกว่านักการเมืองไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจสาธารณะ และอำนาจรัฐ เมื่อเป็นนักการเมืองก็ต้องรับข้อวิจารณ์ทางการเมืองได้

วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยมีลักษณะประนีประนอม ก็คาดหมายว่าจะมีบุคลิกนุ่มนวล รับฟังความเห็นคนอื่น ซึ่งเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ ก็พยายามปรับตัว แต่จากการเป็นทหารมาทั้งชีวิต คงต้องใช้เวลาในการปรับตัวนานพอสมควร

3.ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตัวเป็นนักการเมือง ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ชัดเจนดี ซึ่งสังคมไทยอยากฟังคำนี้จากปากนายกฯ หลังปฏิวัติแล้ว และต่อไปนี้ 1.เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ตระหนักได้ว่าเป็นนักการเมือง การทำงานก็ต้องนึกถึงบทบาทนักการเมือง ที่ถูกวิจารณ์ได้ กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพต้องยกเลิก ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกา

2.พล.อ.ประยุทธ์ ต้องระวังเรื่องการใช้อำนาจ โดยเฉพาะพรรคพวกของนายกฯ ต้องรู้ว่า การปฏิบัติตัวก็ต้องอยู่ในสถาน ภาพว่าเป็นนักการเมืองเช่นกัน จะปิดบังข้อมูล หรือไปจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ให้วิจารณ์ตัวผู้นำไม่ได้ และ 3.การที่พล.อ. ประยุทธ์ พูดแบบไม่ปิดโอกาส เป็นนายกฯคนนอกก็ชัดเจนดี ดังนั้น พรรคไหนที่เตรียมจัดตั้งและสนับสนุนท่านก็จะชัดเจน

เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในรอบ 3 ปี บรรดาเพื่อนร่วมงานจะได้ปฏิบัติตัวตาม รวมถึงกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ด้วย จะเข้าสู่บรรยากาศที่ประชาชนมีส่วนร่วมติติงเสนอแนะได้

แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยกเลิกคำสั่งคสช.ที่จำกัดสิทธิต่างๆ รวมทั้งระบบราชการประจำ จะได้ชัดเจนว่าวันนี้สถานภาพของนายกฯ เป็นนักการเมือง การทำงานก็ต้องมีกรอบและต้องไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเลือกที่รักมักที่ชังนักการเมือง

ฉะนั้น การประกาศอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องลงมือทำด้วย ถ้าทำได้ ทุกคนจะมีความเชื่อมั่นในโรดแม็ปที่ประกาศไว้

อย่างไรก็ตาม ผมยังเห็นว่านายกฯประกาศช้าไปนิดนึง ควรประกาศตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่แล้ว ถึงแม้จะช้าก็ยังไม่ถือว่าสายเกินไป และประกาศอย่างเดียวไม่พอต้องทำให้คนเชื่อด้วย ต้องยกเลิกคำสั่งต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนและนักการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้

ส่วนทิศทางการเมืองจากนี้ไป คิดว่าจะคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ซุ่มรอจังหวะว่าจะจดทะเบียนพรรคเมื่อใด และถ้าไม่ยกเลิกข้อกำหนดต่างๆ ที่ทำให้เกิดข้อวิจารณ์ การประกาศของนายกฯจะไม่มีประโยชน์ ถ้าเริ่มด้วยการยกเลิกคำสั่งต่างๆ จะทำให้ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ และทุกพรรคสามารถหยิบยกนโยบายไปจัดทำก่อนการเลือกตั้ง

จึงเห็นว่าเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศออกมาอย่างนี้ ควรแสดงออกเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทนักการเมือง ควรพูด กับคสช.เตรียมประกาศให้รู้ว่าจะยกเลิกทุกคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็ต้องยอมรับการถูกวิจารณ์ นายกฯต้องปฏิบัติตัวให้เหมือนนักการเมือง เปิดโอกาสให้วิจารณ์ และเสนอแนะได้ โดยไม่มีข้อจำกัด

ถ้ายังมีคำสั่งคสช.อยู่ การประกาศตัวเป็นนักการเมืองแต่ยังรังเกียจนักการเมือง ท่านก็ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักฉวยโอกาสทางการเมือง เพราะมีแต้มต่ออยู่แล้ว ซึ่งการยกเลิกคำสั่งคสช. ก็ไม่เสียหายอะไร

4.วิโรจน์ อาลี

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ชัดเจนว่าพล.อ.ประยุทธ์ อยากเข้ามาสู่อำนาจโดยผ่านช่องทางที่มีในรัฐธรรมนูญ คือ การเป็น 1 ใน 3 ของพรรคใดพรรคหนึ่งที่จะเสนอชื่อว่านายกฯ หรือให้ส.ว.นำเสนอชื่อนายกฯ แต่เชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จะเน้นวิธีให้ส.ว.เสนอชื่อเป็นสำคัญ

ด้วยท่าทีที่ไปครม.สัญจรมากขึ้น ลงไปพบปะประชาชน หรือภาษาที่ใช้ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง จึงเชื่อได้ว่าเหตุผลเดียวที่ทำให้คสช.ไม่ยอมปลดล็อกพรรค เพราะอยู่ในขั้นตอนเดินสายพูดคุยกันมากกว่า เพื่อถ่วงเวลานั้นออกไป

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่จนกว่าจะหารัฐบาลได้ คสช.ยังจะอยู่ต่อนั้น ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญว่าถ้าอยากเดินหน้าก็ให้เสนอชื่อตนเอง เชื่อว่าถ้าพล.อ.ประยุทธ์ กล้าพูดออกมาเช่นนี้ ก็ต้องมีความมั่นใจแล้วว่าโอกาสที่จะถูกนำเสนอชื่อ หรือเกิดเดดล็อกในรัฐสภา น่าจะเป็นไปได้สูงที่จะได้กลับมาอีกครั้ง

การเมืองต่อจากนี้คงสนุกมาก ถ้าในแง่ของการบริหาร การผ่อนคลายในมิติความมั่นคง เราเริ่มเห็นไตรมาสสุดท้ายเมื่อปีที่แล้ว คสช.ลดระดับความเข้มงวดในการแสดงความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ของนักการเมืองก็ค่อนข้างเข้มข้น

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ต่อไปจะมีความผ่อนคลาย รัฐบาลจะมุ่งแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้นายกฯ หยิบมาเป็นโอกาสในการทำให้รัฐบาลชุดนี้ประสบความสำเร็จ และคิดว่าปีนี้เป็นปีที่รัฐควรจะเน้นแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วย

ในทางการเมือง การที่พรรคเล็กพรรคใหม่สามารถจดทะเบียนพรรคได้ตั้งแต่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป และพรรคใหญ่จะดำเนินต่อไป ถึงวันนั้นการเมืองไทยก็จะเข้มข้นมากขึ้น

ในวันนี้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมีความชัดเจนว่าถ้าอยากจะเข้ามาเล่นการเมืองก็ต้องปลดล็อกพรรค เพราะถ้ายังอยู่ในจุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีอำนาจของกองทัพหรือคสช.อยู่ ก็จะไม่แฟร์กับหลายๆ ประเด็น และต้องลดกลไกต่างๆ ทางการเมืองด้วย ต้องเอาให้ชัดว่าจะอยู่พรรคไหน และจะมีนโยบายอย่างไร จากนั้นก็ทำไปพร้อมกับพรรคอื่น

ถ้าเป็นเช่นนั้น จะทำให้พล.อ.ประยุทธ์เข้าสู่การเมืองอย่างสง่างาม แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จะเปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักการเมือง คนจะมองว่าที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ พยายามสืบทอดอำนาจหรือไม่ แต่ถ้าพลิกโหมดมาเป็นนักการเมืองอย่างเต็มตัวแล้วมีการฟอร์มพรรค มีนโยบายชัดเจน คิดว่าประชาชนก็พร้อมจะเปลี่ยนทัศนคติตามได้

หากยังไม่มีความชัดเจนจะส่งผลเสียมากกว่าดี พล.อ.ประยุทธ์ต้องสละวาทกรรม การสืบทอดอำนาจให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่าที่ผ่านมาเป็นการหาเสียงทางอ้อม หรือการใช้เทคนิคการเลื่อนไปเรื่อยๆ เชื่อว่าเป็นปัญหาแน่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน