ผ่านพ้นปีใหม่มาได้แค่ 2 สัปดาห์

รัฐบาลและคสช.ภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เปิดเกมรุกหลายมิติต่อเนื่อง

บรรยากาศโดยรวมเป็นไปตามที่หลายคนวิเคราะห์ฟันธงไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่าปี 2561 ซึ่งถือเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล คสช. ตามโรดแม็ปที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน

จะได้เห็น “ผู้เล่น” ทยอยเปิดตัวมากขึ้น

ที่เรียกเสียงฮือฮาในสนามกว่าใคร ต้องยกให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนักการเมือง “หน้าใหม่” มาแรงอันดับหนึ่ง

เริ่มต้นจากการให้สัมภาษณ์เปิดตัวเป็น “นักการเมือง” และยืนยันไม่ปิดทางตัวเองในการเป็น “นายกฯ คนนอก” และกับประโยค “วันนี้เป็นคนของประชาชนแล้ว” ตอกย้ำชัดๆ กับบทบาท 2 สถานะ

เป็นทั้ง “กรรมการ” เป็นทั้ง “ผู้เล่น”

เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังเกรียวกราวจากทีมพรรคการเมืองตรงข้าม และประชาชนที่ต่างเฝ้ารอชมศึกเลือกตั้งระดับ “บิ๊กแมตช์” ในรอบ 8 ปีอยู่ข้างสนาม

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ทั้งทางลบ ทางบวก มีจำนวนหนึ่งเช่นกันที่มองว่า การประกาศเข้าสู่โหมดนักการเมืองเต็มตัวของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย

และน่าจะผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดี ที่จะดำเนินการทางยุทธวิธีเพื่อไปสู่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ซึ่งถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กระทั่งถึงปัจจุบัน ผ่านการดำเนินการของแม่น้ำสายต่างๆ

เริ่มจากการจัดทำรัฐธรรมนูญ ให้มีส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. 250 คน ร่วมกับส.ส.จากการเลือกตั้งลงมติเลือกนายกฯ คนนอก ที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนได้

นอกจากนั้นยังมีบทบัญญัติอีกหลายมาตรา ที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลนายกฯคนนอกไปอีก 5-20 ปี ผ่านคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

ตามด้วยการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือพ.ร.ป. 10 ฉบับ โดยเฉพาะเกี่ยวกับองค์กรอิสระและการเลือกตั้งส.ส. ที่เอื้อต่อพรรคการเมืองที่เตรียมจัดตั้งขึ้นโดยมีแนวทางสนับสนุนผู้มีอำนาจปัจจุบันให้คงอยู่สืบต่อไป

และถึงแม้พ.ร.ป.พรรคการเมืองประกาศใช้แล้วตั้งแต่ตุลาคม 2560 ก็ไม่ยกเลิกคำสั่งคสช. ยังใส่ล็อกแน่นหนา

ทำให้พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้

จากนั้นก็ใช้อำนาจมาตรา 44 ปรับเปลี่ยนแก้ไขเนื้อหาสาระของพ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยเฉพาะการ “รีเซ็ต” สมาชิกพรรคที่เป็นอุปสรรคสร้างปัญหาให้พรรคการเมืองเดิมอย่างมาก

ก่อนหน้านี้ก็ยังมีการเคลื่อนไหวสอดรับหลายรูปแบบ ตั้งแต่การตั้งคำถามการเมืองให้ประชาชนตอบรอบแรก 4 ข้อ รอบที่สอง 6 ข้อ

การเพิ่มอัตราความถี่ในการลงพบปะประชาชนทั้งในนามนายกฯ และในนาม ครม.สัญจร ไปตามจังหวัดต่างๆ พร้อมถือโอกาส “เปิดดีล” เจรจากับอดีตส.ส.แกนนำพรรคและกลุ่มการเมืองในพื้นที่

สอดรับกระแสข่าวเครือข่ายผู้มีอำนาจเดินสายขยายฐาน รวบรวมนักการเมือง พรรคเล็กพรรคน้อย จัดตั้งพรรคใหม่เตรียมใช้เป็นฐานรองรับการกลับเข้าสู่อำนาจ

อัดฉีดโครงการต่างๆ ด้วยเม็ดเงินมหาศาล

ล่าสุดที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 2 หรือบัตรคนจนเฟส 2 วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องจากโครงการเฟสแรก วงเงินกว่า 4 หมื่นล้าน

เนื้อหาบัตรคนจนเฟส 2 คือ เติมเงินให้คนมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี เพิ่มจากเฟสแรก 300 บาทเป็น 500 บาทต่อเดือน คนมีรายได้เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท เพิ่มจาก 200 บาท เป็น 300 บาทต่อเดือน

รวมกรณีเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ 60-90 ปีขึ้นไปเดือนละ 100 บาท การปรับขึ้นค่าแรงตามสภาพค่าครองชีพพุ่งสูง อยู่ในขั้นตอนเจรจา 3 ฝ่ายยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ก็มีแนวโน้มที่ดี

ตามเป้าหมายเศรษฐกิจทั้งแม่ทัพใหญ่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และแม่ทัพเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ประกาศปักหมุด จะทำให้คนไทย 11.4 ล้านคนหลุดพ้นเส้นแบ่งความยากจนในปี 2561

ถ้าสำเร็จ ถึงจะช้าไปหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับสาย เกินไป

น่าจะโกยแต้มตุนได้เป็นกอบเป็นกำ

ในส่วนของการเมืองยังก่อตัวเป็นคลื่นโถมกระแทกใส่ไม่หยุด

สาเหตุจากการที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศตัวเป็นนักการเมือง ไม่ปิดทางตัวเองกลับมามีอำนาจใหม่อีกรอบในฐานะนายกฯ คนนอก หรือนายกฯ รับเชิญ

ถึงจะคาดเดากันได้ตั้งแต่แรก แต่ก็เป็นชนวนให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงจากนักการเมือง

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ 2 พรรคใหญ่ ที่ใจหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะประชาชนอยากฟัง จะได้มองเห็นอนาคตใครคือผู้เล่น ใครคือกรรมการ หรือใครควบทั้ง 2 สถานะ ทั้งผู้ตัดสิน ทั้งผู้แข่งขัน

ปัญหาได้เปรียบเสียเปรียบที่ฝ่ายการเมืองพยายามบอกก็คือ ปัจจุบันพล.อ.ประยุทธ์ คือนักการเมืองเพียงคนเดียวในประเทศไทย ที่สามารถเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสรเสรี

ลงพื้นที่พบปะประชาชนที่ไหนก็ทำได้ ชี้แจงนโยบายรัฐบาลที่ตัวเองเป็นนายกฯ เมื่อไหร่ก็ได้ การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน อัดฉีดเม็ดเงินลงในโครงการต่างๆ หมื่นล้าน แสนล้าน ก็ทำได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ

ผิดกับฝ่ายพรรคการเมืองที่ได้เฝ้ามองตาปริบๆ เนื่องจากติดล็อกคำสั่ง คสช.

การใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ถูกมองว่าไม่เป็นธรรม มีเจตนาแอบแฝงสร้างความได้เปรียบให้พรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับนายกฯคนนอก

แต่ความได้เปรียบของฝ่ายรัฐบาลที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมากมายล้นเหลือ ก็เหมือนกับดาบสองคม ที่ด้านหนึ่งส่งผลให้พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค ต้องหันกลับมาพิจารณาอย่างจริงจัง

จะวางหมากรับมือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้อย่างไร

พรรคเพื่อไทย แน่นอนว่าหัวเด็ดตีนขาดก็ ต้องยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้าม ไม่ว่า คสช.หรือพล.อ.ประยุทธ์จะเปลี่ยนไปอยู่ในสถานะใด

การต่อต้านนายกฯ คนนอก การไม่เอาประชาธิปไตยครึ่งใบ จะเป็นเป้าหมายรณรงค์หาเสียงของพรรคในอนาคต ตามที่ในปัจจุบันก็เริ่มมีการโหมโรงไว้บ้างแล้ว

กลุ่มอดีตส.ส.ภาคอีสาน-ภาคเหนือกว่า 100 ชีวิต ให้คำมั่นสัญญากับแกนนำพรรค ว่าจะอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่ ไม่ย้ายพรรค แม้ต้องเผชิญกับ “พลังดูด” จากฝ่ายตรงข้าม

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกอบด้วยสมาชิก 2 กลุ่มใหญ่ ทั้งต่อต้านและสนับสนุน คสช. ผสมปนอยู่ด้วยกัน จนยากคาดเดาได้ว่าเมื่อถึงยามหน้าสิ่วหน้าขวานจะเลือกยืนอยู่ตรงจุดใด

สุดท้ายยังเป็นนายชวน หลีกภัย ที่ออกมาย้ำจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ ว่าหากกลไกปกครองบ้านเมืองเพี้ยนไปจากประชาธิปไตย ก็ถือว่าไม่ใช่แนวทางของพรรค

และไม่หวั่นหากกลุ่ม กปปส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะแยกออกไปตั้งพรรคใหม่

ส่วนโอกาสจับมือกับพรรคเพื่อไทยนั้นยังไม่แน่ เพราะต้องดูในเรื่องของหลักการและกติกาที่ผู้มีอำนาจสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ไม่ปิดประตูตายเสียทีเดียวเหมือนก่อนหน้า

การเมืองปัจจุบันเริ่มน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะไม่ใช่แต่ คสช.และพล.อ.ประยุทธ์เท่านั้นที่เปิดตัวชัดเจน

2 พรรคใหญ่ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ก็แบไต๋ วางยุทธวิธีเผด็จศึกของตัวเองไว้แล้วเหมือนกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน