บทบรรณาธิการ

สัปดาห์นี้ องค์กรระหว่างประเทศ Charities Aid Foundation เปิดผลสำรวจความมีน้ำใจของประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก 140 ประเทศ ในปี 2559

การจัดอันดับครั้งนี้ทำติดต่อเป็นปีที่ 7 ใช้วิธีวัดจากการสำรวจพฤติกรรมประชาชนในการช่วยเหลือคนที่ตนเองไม่ได้รู้จัก การบริจาคเงิน และการเป็นอาสาสมัคร

ปรากฏว่า พม่า เพื่อนบ้านของไทยขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 70 ตามด้วยอเมริกาและออสเตรเลีย ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 37

แม้ว่าการจัดอันดับนี้จะเป็นเพียงการสุ่มตัวอย่างแค่หลักพัน แต่ก็พอเป็นดัชนีทางสังคมตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ

จากปกติที่มักมีแต่มาตรวัดทางเศรษฐกิจ เช่น ค่าจีดีพี ยอดการส่งออก-นำเข้า ดัชนีความสะดวกในการเข้ามาทำธุรกิจ ฯลฯ

ดัชนีวัดน้ำใจดังกล่าว ประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ และมีแนวโน้มจะมีคะแนนสูงขึ้นได้ หากสังคมเดินหน้าเข้าสู่การปรองดอง

เพราะความขัดแย้งเป็นตัวบั่นทอนความ มีน้ำจิตน้ำใจ เห็นอกเห็นใจกัน โดยเฉพาะกับคนที่ไม่รู้จัก

ขณะเดียวกันยังทำลายการใช้เหตุผล ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เหยียด และกล่าวร้าย

สถานการณ์นี้ปรากฏมาแล้วในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ไม่เพียงกระทบต่อชีวิตของผู้มีความคิดเห็นที่แตกต่าง

ยังทำให้นานาประเทศประหลาดใจต่อภาพความมีน้ำใจของคนไทย

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาของความสูญเสียนี้ เมื่อรัฐบาลเป็นผู้นำให้คนในสังคมลดความขัดแย้ง ละวาง และมีส่วนร่วมในการแสดงความไว้อาลัยอย่างเท่าเทียมกันแล้ว

จึงทำให้เกิดบรรยากาศของความปรองดองและสามัคคีขึ้น

ดังนั้น เพื่อสานต่อบรรยากาศอันดีงามนี้ไว้ จึงเป็นบทบาทหน้าที่อันสำคัญของรัฐบาลเช่นเดียวกัน

การแสดงท่าที ปฏิกิริยา การใช้ถ้อยคำใดๆ ของบุคคลในรัฐบาล รวมไปถึงการดำเนินนโยบายและแผนงานทางการเมือง จึงควรยึดมั่นในแนวทางนี้และแนวทางสากล หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือปลุกเร้า

ที่สำคัญคือไม่กลายเป็นคู่กรณีของความขัดแย้งเสียเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน