ในที่สุด ความเชื่อของ นายพิชัย รัตตกุล และความเชื่อของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ว่าจะไม่มีการเลือกตั้งในปี 2561

ก็เริ่มปรากฏ “เค้า” แห่ง “ความจริง”

ไม่เพียงแต่สัมผัสได้จาก 1 คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม

หากแต่ 1 จากร่างพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

เด่นชัดยิ่งว่าในขั้นคณะกรรมาธิการจะมีการแก้ไขในเรื่องของระยะเวลาที่จะกำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าเป็นเท่าใด

เรียกตามสำนวนของ นายวิษณุ เครืองาม เกจิทางด้านกฎหมายของคสช.ก็ต้องว่า

เป็น “อภินิหาร”แห่ง “กฎหมาย”

คล้ายกับความพยายามใน “การยื้อ” เพื่อ “เลื่อน”โรดแมปการเลือกตั้งออกไปจะกลายเป็นปัญหาของนักการเมืองและพรรคการเมือง

อาจเป็นเช่นนั้น

แต่เมื่อคลี่เอาแต่ละจังหวะก้าวและกระบวนการไหวเคลื่อนออกมาแผ่แบต่อสาธารณะ ก็จะมองเห็นถึงความไม่พร้อมทางด้านของคสช.และทางด้านของรัฐบาลเอง

เพราะหากพร้อมจะอยู่ในอาการละล้าละลังอย่างนี้หรือ

เพราะหากพร้อมและมากด้วยความมั่นใจก็น่าจะเลือกตั้งตั้งแต่เมื่อปี 2558 หรือเมื่อปี 2559 แล้ว

แต่นี่ต้องเลื่อนมาปี 2560 และต้องเลื่อนมาปี 2561

แต่เมื่อผ่านปี 2560 แล้วก็ไม่แน่ใจอีกเหมือนกันว่าหากเลือกตั้งในปี 2561 แล้วผลจะเป็นเช่นใด

จึงต้องยื้อแล้วเลื่อนไปยังปี 2562

ที่มีหลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสรุปว่า อาการของคสช. อาการของรัฐบาล คือ อาการของการ “ติดกับดัก”

คล้ายกับ “กับดัก” ต้องมาจาก “นายพราน”

และความเข้าใจทั่วไปก็มองและประเมินว่า “นายพราน” น่าจะเป็นปัจจัยอันมาจากนักการเมืองอื่น พรรคการเมืองอื่น ซึ่งมิใช่คสช.หรือรัฐบาลปัจจุบัน

แต่แม้กระทั่งคสช. แม้กระทั่งรัฐบาลเองก็ยอมรับอย่างเงียบๆว่ามิได้มาจากคนอื่น ฝ่ายอื่น

หากมาจาก “ภายใน” หากมาจาก “กับดัก”ของตัวเอง

เป็นกับดักจาก “รัฐธรรมนูญ” เป็นกับดักจาก “มาตรา 44”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน