ในฐานะกุม “อำนาจรัฐ” ในฐานะอยู่ในจุดอันเป็น”รัฎฐาธิปัตย์”สิ่งที่เรียกว่า “อำนาจนำ”น่าจะเป็นของ “คสช.”
แต่หากประเมินผ่านแต่ละ”มาตรการ”ก็ไม่แน่ว่าเป็นเช่นนั้น
นับแต่การส่ง “ส.ค.ส.”ว่าด้วย “กองหนุน”ออกมาเมื่อเช้าวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ก็เริ่มมีความเด่นชัดเป็นลำดับว่า “อำนาจนำ”ไม่น่าจะอยู่กับ “คสช.”อย่างเบ็ดเสร็จ
ถามว่า “คสช.” สามารถกุมกระบวนการของ”นาฬิกา”หรูได้หรือไม่
หากดูจากจำนวนที่ทะลุ 20 กว่าเรือนก็เด่นชัด
เด่นชัดว่าไม่เพียงแต่จะกุม “เส้นทาง”ของ”นาฬิกา”ไม่ได้ หากแม้กระทั่งเส้นทางของ”ข่าว”ก็ยาก
ยิ่งเรื่อง”เลือกตั้ง”ยิ่ง “ลื่นไหล”

ระยะหนึ่ง คำสั่งหัวหน้าคสช.อาจเป็นมาตรการ”เชิงรุก”อย่างได้ผลและจำกัดพื้นที่ของอีกฝ่าย
แต่พลันที่มี “รัฐธรรมนูญ”เริ่มไม่ใช่แล้ว
ยิ่งเมื่อมีการประกาศและบังคับใช้พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง แต่ยังคงคำสั้งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 57/2557 เอาไว้ยิ่งจะกลายเป็น”ปัญหา”
รู้ทั้งรู้ว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 57/2557 เป็นประเด็นแน่ๆ แต่ก็ยังออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 ตอกย้ำซ้ำเข้ามาอีก
เหมือนกับได้ “อำนาจ” แต่อำนาจอันได้มาก็ไม่สามารถดำรงอยู่อย่างเป็นอำนาจ”นำ”
เพราะถูก”ท้าทาย”จาก”พรรคการเมือง”โดยพลัน

คล้ายกับแต่ละ”มาตรการ”อันออกมาจากคสช.ประสานเข้ากับจากรัฐบาลจะเป็น”การรุก”ในทางการเมือง
แต่คำถามว่าทำไมยิ่ง”รุก” ยิ่งกลายเป็น “ปัญหา”
ที่สำคัญก็คือ เป็นปัญหาอันสะท้อนถึงภาวะแห่งความไม่พร้อมของคสช.และของรัฐบาลที่จะเข้าสู่”การเลือกตั้ง”
จึงเห็นอาการ”ยื้อ” จึงเห็นอาการ”หน่วง”
ทั้งๆที่ไม่ควรจะมาจาก “คสช.” ทั้งๆที่ไม่ควรมาจาก”รัฐบาล”
เพราะหากคสช.และรัฐบาลเป็นฝ่าย “รุก”ในทางเป็นจริงก็ชอบที่จะเดินหน้าเข้าสู่สนาม”เลือกตั้ง”ด้วยความทรนง องอาจ เพราะ”ชัยชนะ”ย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
หากคิดว่าตน”รุก”แล้วจะปรับเปลี่ยน”โรดแมป”ทำไม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน