กลบกระแส “ไทยนิยม” ที่รัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.โหมตีปี๊บเสียสนิท

หลังจู่ๆ เกิดข่าวแพร่สะพัด กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็น 90 วันหลังประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา จากเดิมให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดไป

เรียกแขกนักการเมืองเข้ามารุมถล่มทันที

ด้วยปมหวาดระแวงหากมีการแก้ไขจริง จะทำให้โรดแม็ปเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกเป็นรอบที่สาม

ทั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเป็น “ปฏิญญาทำเนียบ” ไว้แล้ว ภายใต้การรับรู้ของคนไทยและประชาคมโลกว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

ในส่วนตรงนี้พูดได้ว่าประมาณเดือนมิถุนายน 61 จะประกาศวันเลือกตั้ง และประมาณเดือนพฤศจิกายน 61 จะมีการเลือกตั้ง วันนี้ก็มี ความชัดเจนขึ้น ขอให้ทุกคน นักการเมือง พรรค การเมืองอยู่ในความสงบ ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณามาตรการในการผ่อนคลายต่างๆด้วย”

แม้ในตอนแรก กมธ.บางคนจะระบุเป็นแค่ “ข่าวปล่อย”

แต่ก็เป็นแหล่งข่าวในกมธ.ชุดเดียวกันที่ยืนยันว่า เป็นแนวทางช่วยให้พรรคการเมืองเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งได้ทัน โดยเฉพาะการทำ “ไพรมารี่โหวต”

จากเดิมพรรคการเมืองต่างๆ ต้องทำกิจกรรมทางการเมืองได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2560 แต่เนื่องจากคสช.ยังไม่ปลดล็อกคำสั่งที่ 57/2557 และยังออกคำสั่งที่ 53/2560 กำหนดให้พรรคการเมืองเริ่มดำเนินกิจกรรมได้ในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนปี 2561

แนวทางแก้ไขร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ให้มีผลบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงเป็น “ทางออก” ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ ได้ทัน

ล่าสุดในการประชุมวันศุกร์ที่ผ่าน กมธ.เสียงข้างมากลงมติให้มีการแก้ไขร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ในประเด็นดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย

ข่าวปล่อยจึงยกระดับเป็นข่าวจริง

จากการเปิดเผยของกมธ.ในสนช. ดูเหมือนเป็นความปรารถนาดีต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองโดยถ้วนทั่ว ไม่ว่าพรรคใหญ่ พรรคเก่า หรือพรรคใหม่กำลังจะตั้งขึ้น

แต่ก็แปลก เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังมาจากนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ กลับออกมาในแนวคัดค้าน ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

สวนทางความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายบริกรที่ต่างยืนยัน การแก้ไขขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องสามารถทำได้

เพราะรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทไม่ได้กำหนดว่าเมื่อออกกฎหมายแล้วต้องให้มีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้นเท่านั้น

เพียงแต่ให้เขียนกำหนดว่าจะให้มีผลบังคับใช้เมื่อใด เช่น หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 30, 60, 90 หรือ 120 วัน จุดประสงค์เพื่อคลี่คลายปัญหาที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

นายวิษณุ ถึงกับออกตัวแทนกมธ. เรื่องที่มีการมองว่าการแก้ไขอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคใหม่ได้มีเวลาเตรียมตัวในการลงเลือกตั้งว่า คงไม่ใช่ เพราะหากมีการแก้ไข พรรคเก่าจะได้ประโยชน์เช่นกัน

สำรวจปฏิกิริยาพรรคการเมือง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวผ่าน เฟซบุ๊กว่า หากมีการแก้ไขพ.ร.ป.เลือกตั้งตามที่มีข่าว ก็เปรียบเหมือน “ตีเช็คเปล่า”

ปกติกฎหมายหรือพ.ร.บ.เกือบทุกฉบับจะเขียนหรือบัญญัติไว้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป พ.ร.บ.ว่าด้วยการเมือง 2560 หรือพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) 2560 ก็บัญญัติไว้เช่นนี้

ดังนั้น พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่กำลังจะผ่านสนช.ปลายเดือนมกราคมนี้ หากคสช.หรือรัฐบาลยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง สนช.ก็จะเขียนให้ต่างไปจากเดิม

คือเขียนให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วันหลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปกี่วันก็เติมคำในช่องว่างลงไปตามใจชอบ และอย่าลืมว่ายังต้องบวกอีก 150 วัน เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับตั้งแต่กฎหมายเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ

ความคิดอย่างนี้ระดับเซียนทางกฎหมายเท่านั้นที่จะทำได้ คสช.มีเซียนกฎหมายอยู่หลายคน การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปทำได้สบายมาก แบบเนียนๆ ใครที่คิดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่ผู้มีอำนาจประกาศไว้ ก็ขอให้ไปเปิดเพลง ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง ของ รวงทอง ทองลั่นทม ฟังไปก่อน”

ทางฝั่งพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าทีมกฎหมายของพรรคระบุ กรณีดังกล่าวทำให้คิดได้ว่า ตอนนี้แม่น้ำทุกสายกำลังช่วยกันขบคิดหาวิธีว่าทำอย่างไรจะอยู่ให้ยาวที่สุด

ทำอย่างไรถึงจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้อีก และทำอย่างไรให้พรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่เพื่อสนับสนุนการสืบทอดของผู้มีอำนาจ มีความพร้อมในการเลือกตั้งมากที่สุด

เพราะหากเลื่อนวันบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งออกไป 90 วัน อีกทางหนึ่งเท่ากับเป็นการเลื่อนระยะเวลาเริ่มต้นที่จะต้องมีการเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังกฎหมายมีผลใช้บังคับออกไปด้วยเช่นกัน

จาก 5 เดือน งอกขึ้นมาอีก 3 เดือน เป็น 8 เดือน

ตรงนี้เองทำให้ฝ่ายการเมืองวิเคราะห์ฟันธง

ปี 2561 ไม่มีการเลือกตั้งแน่นอน

คําถามคือหากมีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งส.ส. จนส่งผลให้ไม่มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้หรือภายในปี 2561

ความเสียหายจะตกอยู่กับใคร

หากยึดตามที่กมธ.บางคนอ้างว่าแนวทางการยืดเวลาดังกล่าว เพื่อเป็น “ทางออก” ให้พรรคการเมือง

หรือหากเป็นไปตามที่นายวิษณุ เครืองาม พูดไว้ ไม่ว่าพรรคใหม่หรือพรรคเก่าก็จะได้ประโยชน์จากการ “เตะถ่วง” นี้ออกไปเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีเวลาเตรียมความพร้อมลงสู่สนามเลือกตั้งนานขึ้น

แทนที่จะดีใจ พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์กลับอ่านออกว่า แนวทางดังกล่าวเป็นแค่ “จิ๊กซอว์” หนึ่งในหลายๆ ตัว ที่ถูกนำมาต่อสวมรวมกันเป็นภาพใหญ่

สร้างเงื่อนไขลากยาว ถ่วงเวลา เตรียมรองรับใครบางคนกลับคืนสู่อำนาจหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะถูกกำหนดขึ้นตามความพร้อมของผู้มีอำนาจและพรรคในเครือข่าย

ปัจจุบันมีการเปิดตัวพรรคที่ว่าไปแล้ว 2-3 พรรค เห็นได้จากอย่างน้อยนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็มีส่วนอย่างมากในที่มาของคำสั่ง 53/2560 ที่มีเนื้อหากำหนดให้ต้อง “รีเซ็ต” สมาชิกพรรคการเมือง

หากมองในมุมนี้ที่ว่าพรรคเก่าได้ประโยชน์ จึงไม่ใช่

สังคมต้องเฝ้าดูกันต่อไปว่า การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ถึงที่สุดเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวาระ 2-3 แล้ว จะเป็นแค่การ “โยนหินถามทาง” หรือไม่

แต่อะไรก็ตามที่แม่น้ำทุกสายร่วมกันทำ แล้วมีผลให้การเลือกตั้งต้องล่าช้าออกไป

อาจกระทบต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือในตัว “ผู้นำรัฐบาล” ขั้นร้ายแรง เนื่องจากเป็นผู้ประกาศโรดแม็ปเลือกตั้งไว้เป็นที่รับรู้กันทั่วโลกไม่เฉพาะในประเทศไทย

การสร้างเงื่อนไขลบล้างสัจจะวาจา นำมาซึ่งวิกฤตการณ์หลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เดือนพฤษภาคม 2535

เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจทุกยุคทุกสมัยควรนำมาเป็นบทเรียน

ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน