ความไม่แน่นอนในกำหนดเวลาเลือกตั้ง เริ่มกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติ จะต้องแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้สอดคล้องกับคำสั่งคสช. ที่ 53/2560 เรื่องการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง

การแก้ไขจะต้องกำหนดให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ใน 90 วัน นับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จากเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันที

ด้วยข้อกำหนดนี้จึงจะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป

แม้ว่าจะมีคำประกาศจากรัฐบาลไปทั่วโลกแล้วว่า การเลือกตั้งของประเทศไทยเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยจะมีขึ้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561

การเลื่อนเวลาครั้งนี้ย่อมมีคำอธิบายถึงความจำเป็นมากมายในแง่กฎหมาย แต่ต้องประเมินเช่นกันว่าจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอย่างไร

เพราะหากมี ควรจะต้องกำหนดฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบโดยเฉพาะกับผลกระทบด้านลบต่อประเทศ

เหมือนกับรัฐบาลก่อนๆ ต้องรับผิดชอบกับผลกระทบด้านลบจากการดำเนินนโยบายมาแล้ว

แม้ว่าการเลือกตั้งจะเป็นกระบวนการทางการเมือง แต่ปัจจัยแวดล้อมและผลของการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเดินตามโรดแม็ปที่ต้องฟื้นฟูประชาธิปไตยนั้นจะมีผลกระทบถึงเศรษฐกิจ

รวมถึงการฟื้นฟูความร่วมมือทางเศรษฐกิจของต่างประเทศที่ผ่านมาด้วยคำมั่นว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2561 นี้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของฝ่ายนิติบัญญัติมีขึ้นช่วงเวลาเดียวกับฝ่ายบริหารยืนยันเจตนารมณ์ว่าต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยไป สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

พร้อมกับการบริหารงานแบบบนลงล่างขับเคลื่อนการใช้งบประมาณจากระดับรัฐบาลลงไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2557 หลังประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภาหยุดชะงัก

ถึงขณะนี้แม้ยังไม่อาจประเมินผลได้แน่ชัดว่าผลของความตั้งใจนี้ส่งผลดีมากน้อยเพียงใด แต่ที่ชัดเจนคือการบริหารแบบบนลงล่างนั้น ประชาชนเป็นฝ่ายรอรับ ปฏิบัติตาม แต่ไม่มีส่วนร่วมตามวิถีประชาธิปไตย

หากผลลัพธ์ออกมาไม่ดี จึงเป็นคำถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน