นักวิเคราะห์การเมืองหน้าแตกไปตามๆ กัน

จากที่ประเมินกันเอาไว้ว่าปีจอ 2561 จะเป็นปีแห่งการเลือกตั้งตามที่ผู้นำรัฐบาลคสช.ประกาศไว้เป็นปฏิญญาการเมืองทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล และกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐ ว่า

ประเทศไทยจะมีเลือกตั้งในเดือนพ.ย.2561

ด้วยเชื่อว่าคำพูดที่หลุดจากปากผู้นำชายชาติทหาร ต้องหนักแน่นดั่งหินผา คำไหน คำนั้น

แต่แล้วไม่ทันได้ผ่านพ้นเดือนแรกปี 2561 ทุกอย่างก็กลับตาลปัตร

ในทันทีที่การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 25 มกราคม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. วาระ 2 และ 3

ลงมติ 196 ต่อ 12 เสียง เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) เสนอแก้ไขให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา แก้ไขจากร่างเดิมที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนไว้ ให้มีผลใช้บังคับในวันถัดไป

ผลจากการยืดขยายดังกล่าว ทำให้กรอบเวลาเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยประกาศไว้ต้องขยับเลื่อนออกไป โดยอัตโนมัติ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวชัดเจนในรายการ “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” ถึงการยืดบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง 90 วัน จะทำให้โรดแม็ปเลือกตั้ง ต้องขยับตามไปเป็นในเดือนก.พ.2562 โดยไม่กล้าการันตีว่า จะมีการเลื่อนออกไปจากนั้นอีกหรือไม่

อีกประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก กรณีสนช.มีมติ 136 ต่อ 78 เสียงเห็นด้วยตามกรรมาธิการฯ ตัดข้อความในมาตรา 75 ที่ห้ามโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพ หรือการรื่นเริงต่างๆ ออกไป

เท่ากับว่าในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป ผู้สมัครส.ส.และพรรคการเมือง สามารถจัดมหรสพและงานรื่นเริงได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและอื่นๆ ในภายหลัง

ซึ่งหลายคนเป็นห่วงว่า นอกจากเป็นการเปิดช่องทำให้พรรค “ทุนหนา” ได้เปรียบพรรค “ทุนน้อย”ทำให้การเลือกตั้งขาดความเสมอภาคเท่าเทียม และไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

ทั้งยังเป็นการแก้ไขกฎกติกาสวนทางกับสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิรูปการเมือง” หรือถ้าจะเป็นการปฏิรูป

ก็เป็นการปฏิรูปแบบถอยหลัง มากกว่าเดินไปข้างหน้า

ย้อนกลับมาเรื่องขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง 90 วัน

ซึ่งนักการเมือง 3 พรรคใหญ่รุมสับแหลกตั้งแต่แรกในขั้นกมธ.เตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่สนช. ว่าแฝงปมการเมือง ต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง

ผู้มีอำนาจปฏิเสธว่างานนี้ไม่มี “ใบสั่ง” เป็นเรื่องของสนช. และกรธ.ดำเนินการเองล้วนๆ คสช.และรัฐบาลไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นอย่างใดทั้งสิ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยืนยันทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและยังยึดตามโรดแม็ปเดิม

“แต่ถ้ามีข้อพิจารณาอะไรเพิ่มเติมก็รับฟังเหตุผล ซึ่งกันและกันว่าควรเป็นอย่างไร การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส. ให้ขั้นตอนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ” นายกฯ ระบุ

บรรดากมธ.และสนช.ต่างปฏิเสธเช่นกันว่า การยืดเวลาออกไป 90 วัน เพื่อแก้ปัญหาติดขัดคำสั่งคสช. ที่ 53/2560 ช่วยให้พรรคการเมืองจัดทำไพรมารี่โหวตได้ทัน

เป็นการทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือต้องการ “แลกตั๋ว” เก้าอี้ส.ว.สรรหาแต่อย่างใด

แต่ที่ไม่ปิดบังอำพรางเจตนาเลยก็มี อย่างเช่น กมธ.บางคนที่สงวนคำแปรญัตติขอขยายเวลาเป็น 120 วัน หรือพ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต สมาชิกสนช. ที่อภิปรายว่า

ถ้าประเทศไทยไม่มีวันที่ 22 พ.ค. 2557 เราจะไม่มีประเทศไทยแบบทุกวันนี้ จะมีแต่การเผาบ้านเผาเมือง แบ่งแยกประเทศ เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่

ก่อนจบอภิปรายด้วยข้อเสนอแบบเหาะเหินเกินลงกา ขอให้ขยายเวลาเป็น 60 เดือน หรือ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังดีที่สนช.เสียงส่วนใหญ่ ไม่เอาด้วย โหวตให้แค่ 90 วันตามแผนเดิมที่ล็อกไว้

เท่านี้ก็ “เรียกแขก” ได้จมหู

พรรคเพื่อไทยระบุ การขยายเวลา 90 วันเป็นการใช้ “อภินิหาร” ทางกฎหมาย

ไล่เรียงลำดับเริ่มจากเมื่อพ.ร.ป.พรรคการเมือง มีผลบังคับใช้ แต่คสช.ก็ยังไม่ยอม “ปลดล็อก” ประกาศคำสั่ง 57/2557 ที่ห้ามพรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และคำสั่งที่ 2/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมือง ทำให้พรรคการเมืองไม่อาจปฏิบัติตามกฎหมายได้

แทนที่คสช.จะปลดล็อกเพื่อแก้ปัญหา กลับออกคำสั่งที่ 53/2560 จนเกิดความลักลั่นระหว่างพรรคการเมือง ทำให้พรรคที่มีอยู่เดิมเสียเปรียบพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่มีแนวทางสนับสนุน “คนนอก” เป็น นายกฯ อีกสมัย

ตามด้วยแผนขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง 90 วัน ทำให้คสช.และแม่น้ำสายต่างๆได้อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อหาเสียงสร้างความได้เปรียบ

ถือเป็นการ”โกงกฎหมาย”อย่างหนึ่ง

ไม่ต่างจากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่มองว่า สิ่งที่คสช.และแม่น้ำสายต่างๆร่วมมือกันทำอยู่ขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย

เนื่องจากสภาพที่เห็นก็คือ พรรคใหม่หรือ “พรรคนอมินี” ยังแต่งตัวไม่เสร็จ จึงต้องหาทางทอดเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป จนกว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง

ประกอบกับการอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณลงไปในพื้นที่หลากหลายโครงการประชานิยมในรูปแบบ “ประชารัฐ” บวกกับ “ไทยนิยม”

ยังไม่ผลิดอกออกผลเต็มที่ พอจะกระชากความศรัทธาของประชาชนต่อผู้มีอำนาจให้เพิ่มมากขึ้นมาอยู่ในระดับมั่นใจได้ว่าหนทางกลับสู่อำนาจจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ

การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย 90 วัน อ้างว่าทำเพื่อพรรคการเมืองเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

ทั้งยังอาจก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งวุ่นวายมากกว่าเดิม

ที่สำคัญกรณีดังกล่าวยังนำไปสู่การผิดคำพูดของผู้นำประเทศ ที่เคยประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพ.ย.2561

การร่วมกันสร้างเงื่อนไขกับดักใดๆ ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นข้ออ้างขยับเลื่อนโรดแม็ปออกไปโดยไม่สมเหตุสมผล จะเป็นการทำลายภาพพจน์ความเชื่อมั่นของประชาชนและในสายตานานาชาติ

อย่างที่ล่าสุด นายเปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย กับนายจิลเลียน บอนนาร์โด โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

ต่างก็ให้สัมภาษณ์แสดงความคาดหวังว่า รัฐบาลไทยจะยังคงยึดถือโรดแม็ปเดิมในการจัดให้มีการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561

การที่แกนนำรัฐบาลและคสช.ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน ถึงการเลื่อนโรดแม็ปออกไปอีก 3 เดือน ว่าถึงอย่างไรก็ต้องจบลงด้วยการเลือกตั้งอยู่ดี ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง

แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีอำนาจที่เคยแสดงตัวว่าเป็น “กรรมการ” แล้วเปลี่ยนสถานะมาเป็น “ผู้เล่น” ในสนามเสียเอง แถมยังใช้กองหนุนเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎกติกาตามอำเภอใจ

มีส่วนสำคัญทำให้ประชาชนเกิดข้อวิตกกังวลว่า การเลือกตั้งที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก เมื่อถึงเวลาจริงจะมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมสมกับการรอคอยหรือไม่

ถ้าใช่ ก็จะเป็นทางออกให้กับประเทศ

แต่ถ้าเป็นในทางตรงกันข้าม ก็จะเป็น จุดเริ่มต้นความขัดแย้งรอบใหม่ที่ใหญ่โตและรุนแรงกว่าเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน