สถานการณ์การเมืองมาถึงจุดประจันหน้ากันระหว่างกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กับกลุ่มผู้มีอำนาจอยากเลื่อนเลือกตั้ง ไปจนถึงกลุ่มไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเลย

เพื่อลากยาวอำนาจออกไปหลังอยู่มานานจะครบ 4 ปีเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งเท่ากับ 1 เทอมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

จุดแตกหักที่นำพากลุ่มคน 2 แนวคิดมาประจันหน้ากันรอบใหม่

เริ่มจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ออกไป 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผลที่ตามมาอย่างแรกก็คือ ทำให้โรดแม็ปเลือกตั้งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กำหนดไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องเลื่อนออกไปเป็นอย่างเร็วในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ส่วนอย่างช้าเมื่อไหร่ ยังไม่มีใครคาด เดาได้

เพราะเอาเข้าจริงร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสนช. วาระ 3 ไปหมาดๆ ก็ยังไม่ถือว่าสะเด็ดน้ำ

เนื่องจากยังมีขั้นตอน สนช.ต้องส่งร่าง 2 ฉบับไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พิจารณาภายใน 10 วัน ว่าจะมีข้อโต้แย้งในประเด็นใดหรือไม่

เช่น การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ไปอีก 90 วัน การให้ใช้มหรสพ หาเสียงได้ ที่มาของส.ว.ซึ่งลดกลุ่มอาชีพ จาก 20 เหลือ 10 กลุ่ม การแก้ไขแบ่งประเภทวิธีสมัครส.ว. เป็นประเภทสมัครโดยอิสระ กับประเภทต้องได้รับเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ คือ 4-5 ประเด็น ที่ยังมีความเห็น ต่างกันอยู่ว่า

อาจขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

หากมีการโต้แย้งกันอย่างจริงจัง ก็ต้องตั้งกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วม 3 ฝ่าย สนช. กรธ. กกต. ขึ้นมาพิจารณาร่วมกันเพื่อปรับปรุงแก้ไข แล้วส่งเรื่องกลับเข้าสภาให้สนช.พิจารณา

ตรงนี้เองคือโค้งอันตราย เพราะหากมีการ “คว่ำ” ร่างเกิดขึ้นทุกอย่างก็ต้องกลับไปเริ่มต้นกันใหม่

หรืออีกช่องทางหนึ่ง คือ การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ ซึ่งก็จะกระทบต่อห้วงเวลาการเลือกตั้งเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าแม่น้ำ 5 สายภายใต้การ คอนโทรลของคสช. ยังมีแผนสำรองก๊อก 2 ก๊อก 3 ที่จะยื้อเลือกตั้งให้ไกลจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้อีก

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ หัวหน้าคสช. ชิงออกตัวล่วงหน้า

ยืนยันว่าส่วนตัวยังยึดสัญญาโรดแม็ปเดิม แต่หากถึงที่สุดต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็เป็นเพราะติดขัดกระบวนการในการออกกฎหมายลูก ที่อาจต้องตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย หรือมีคนไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ

ตนเองไม่ได้เป็นคนเลื่อน

การที่พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ระบุเลื่อนเลือกตั้งแค่ 90 วัน “จะอะไรกันนักหนา” ยิ่งทำให้สถานการณ์ของหัวหน้ารัฐบาลย่ำแย่ลง

บทเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” กลับมาดังกระหึ่ม โดยเฉพาะท่อนฮุก “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน…”

มีการรื้อฟื้นปฏิญญาของผู้นำรัฐบาล ที่เคยประกาศไว้และเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่า “ปฏิญญาโตเกียว” ว่าจะเลือกตั้งปี 2559 “ปฏิญญานิวยอร์ก” จะจัดเลือกตั้งปี 2560 และแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐ ว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2561

ขึ้นมาตอกย้ำ “ความน่าเชื่อถือ” ของผู้นำประเทศ

มีการตั้งข้อสังเกตสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน มีส่วนคล้ายคลึงเมื่อครั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติ “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

นำมาสู่การเปิดโปงเบื้องหลัง เป็นเพราะ “เขาอยากอยู่ยาว”

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่างๆ นานา การสร้างความปรองดอง การปฏิรูปประเทศที่ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม

การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นแบบโดนเฉพาะฝ่ายตรงข้าม

สร้างกลไกสืบทอดอำนาจ จนมาถึงการใช้เทคนิคข้อกฎหมายเลื่อนโรดแม็ปเลือกตั้ง

กำลังถูกจับตาว่าเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ทำให้ความอดทนของประชาชนผู้เฝ้ารอประชาธิปไตย มาถึงจุดสิ้นสุดแล้วหรือไม่

การเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านการเลื่อนเลือกตั้ง และการสืบทอดอำนาจ ของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่มสตาร์ต อัพ พีเพิ่ล บริเวณพื้นที่สกายวอล์ก

คือสัญญาณเตือนคสช.และรัฐบาล

การออกหมายดำเนินคดี 39 แกนนำและแนวร่วม ข้อหาขัดคำสั่งคสช.ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ฝ่าฝืนพ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะ และกฎหมายอาญา มาตรา 116 และเตรียมดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องอีกกว่า 60 คน

ไม่เพียงไม่ช่วยให้สถานการณ์สงบลง ได้ ตรงกันข้าม ยังมีแนวโน้มยิ่งทำให้เรื่อง บานปลายหนักขึ้น

การที่ผู้ใหญ่ในคสช. ระบุว่า “จะเตรียมแผนรับมือม็อบเองเพราะเป็นรัฏฐาธิปัตย์”

ได้รับเสียงคัดค้านจากนักการเมืองพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และนักวิชาการ ว่าความเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือผู้ถืออำนาจเบ็ดเสร็จของคสช.

สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของคสช. สิ้นสุดตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวคือ วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 เสียด้วยซ้ำ

แต่ที่คสช.ยังมีอำนาจไม่จำกัด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. เขียนบทเฉพาะกาลให้มาตรา 44 ยังอยู่จนกว่ารัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่

กระนั้นก็ตามการยังมีอำนาจมาตรา 44 ก็ไม่ได้แปลว่าคสช.ยังเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะทำอะไรก็ได้ ที่สำคัญเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ประชาชนคือรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ใช่คสช.

จุดมุ่งหมายของกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหว ก็เพื่อเรียกร้องคำมั่นสัญญาเรื่องเลือกตั้ง และคัดค้านการสืบทอดอำนาจ

ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นเป็นสิ่งที่ผู้นำรัฐบาลคสช.ประกาศไว้เอง ทั้งการพูดว่าจะให้มีเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 หรือการยืนยันหลายครั้งว่าไม่เคยคิดสืบทอดอำนาจ

นักวิเคราะห์การเมืองเตือนว่า การที่ผู้นำรัฐบาลไม่รักษาคำพูด ในทางการเมืองถือเป็นเรื่องใหญ่

จะทำให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยไม่เกรงกลัวอะไรอีกต่อไป เพราะถือว่าหมดความชอบธรรม

การตอบโต้จากรัฐบาลด้วยวิธีเหวี่ยงแหจับกุมดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ยิ่งเป็นการท้าทาย กระตุ้นให้เกิดแนวร่วมต่อต้านมากขึ้น

ได้แต่หวังว่า จะไม่ซ้ำย้อนเหตุการณ์เดือนพฤษภาฯ 2535 ที่จุดเริ่มมาจากการ “เสียสัตย์”ของผู้นำคณะรัฐประหาร “รสช.” แม้จะอ้างเป็นการเสียสัตย์ “เพื่อชาติ” แต่ประชาชนก็ไม่ยินยอม

การใช้อำนาจเข้มข้นเพื่อสยบผู้ชุมนุมต่อต้าน ไม่เพียงสะท้อนความหวั่นไหวของรัฐบาล ยังบ่งชี้ถึงสภาวะ “ขาลง” อย่างแท้จริง

แม้สุดท้ายต่อให้รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ ยืดเวลาเลือกตั้ง ลากยาวอำนาจต่อไปได้

ก็ไม่แน่ว่าเวลาที่ยืดออกไปนั้น

จะเป็นคุณ หรือเป็นโทษ ต่อรัฐบาลคสช.กันแน่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน