ช่วงที่การเมืองไทยมีระบบรัฐสภาพรรคการเมืองเคยมีคำขวัญสำหรับการหาเสียงว่า ประชาชนต้องมาก่อน เพื่อนำเสนอแนวทางการวางนโยบายต่างๆ

ส่วนเวลานี้ผู้นำรัฐบาลใช้คำว่า ไทยแลนด์เฟิร์ส เพื่ออธิบายตัวแทนจากกองทัพสหรัฐอเมริกาถึงการเดินตามโรดแม็ปที่อาจต้องใช้เวลายาวนาน เพื่อให้เป็นไปตามความหวังที่รัฐบาลจัดแจงไว้ให้ประชาชน

โดยอาศัยการเทียบเคียงกับหลักการวางนโยบายของผู้นำสหรัฐว่า อเมริกาเฟิร์ส เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายที่มุ่งเอื้อประโยชน์ให้ชาวอเมริกันก่อน อาจเพราะรู้สึกว่าก่อนหน้านี้ชาวอเมริกัน เสียสละมามากพอแล้ว จนประเทศขาดดุลการค้า และต้องหวาดผวากับเหตุก่อการร้าย

จุดต่างอยู่ตรงที่ว่าการเปลี่ยนนโยบายนี้เป็นไปตามประชาชนเสียงส่วนใหญ่หรือไม่

การดูแลประชาชนและดูแลและต่อรองผลประโยชน์ของประเทศประชาธิปไตยเป็นหน้าที่ของตัวแทนของประชาชนที่มาจากการ เลือกตั้ง

จุดเริ่มต้นของการนำเสนอนโยบายจึงต้องมีรากฐานมาจากประชาชนก่อน ไม่ใช่จากความปรารถนาและการวางแผนของคณะบุคคลที่ ไม่เกี่ยวโยงใดๆ กับประชาชน

ถึงแม้คณะบุคคลจะมีความตั้งใจดี และอยากให้เกิดผลดีกับประชาชน แต่วิธีการที่จะเข้าถึงประชาชน ดำเนินงานและประเมินผลงาน ต้องอาศัยกลไกการถ่วงดุลอำนาจในการตรวจสอบซึ่งกันและกัน

สำหรับประเทศไทย นอกเหนือจากภาคราชการที่ใหญ่โตอย่างกระทรวงมหาดไทยแล้ว จึงต้องมี ผู้แทนจากภาคประชาชน

เป็นเหตุผลว่าการเลือกตั้งจึงสำคัญ แม้ไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย

วิธีนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง จึงไม่ใช่อยู่ที่ผู้หนึ่งผู้ใดกำหนด และไม่ใช่การใช้เงื่อนไขทางกฎหมายปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

การขับเคลื่อนนโยบายของประเทศอาจสั่งการข้าราชการได้ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศได้ แต่การตรวจสอบการทำงานข้าราชการต้องอาศัยภาคประชาชนในบรรยากาศที่เสรีภาพเปิดกว้าง

ลำพังการตั้งงบประมาณ การใช้งบประมาณ ล้วนต้องอาศัยกระบวนการพิจารณา ต่อรอง และตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน

เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน