ระหว่างที่รัฐมนตรีจากชาติใหญ่ๆ ในยุโรปทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเดินทางเยือนไทยในสัปดาห์นี้ อาจไม่มีประเด็นทวงถามเรื่องเลือกตั้งของไทยอย่างเป็นทางการ แต่เรื่องนี้ก็ยังค้างคาอยู่ด้วยคำสัญญาที่รัฐบาลเป็นฝ่ายนำเสนออย่างชัดเจนเมื่อปีก่อน

จนมีการทวงถามและชุมนุมเรียกร้องจากประชาชนกลุ่มหนึ่งในกรุงเทพฯ

คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติระบุว่า จะติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อไป ควบคู่การทำความเข้าใจกับประชาชน ตลอดจนถึงการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

หลังจากเห็นว่า ภาพโดยรวมถือว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับมือกับสถานการณ์ไปด้วยความเรียบร้อยตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม

คําอธิบายจากรัฐบาลและคสช.เองก็ยังระบุว่า ในห้วงนี้เป็นระยะสำคัญต้องเดินไปสู่การเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ และนำพาการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ไปสู่รัฐบาลที่มาจากการ เลือกตั้ง

เพียงแต่ต้องดูแลสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยถือว่ายังเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อประคับประคองและสนับสนุนให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลดำเนินการต่อไปได้

เพราะคสช.เข้าใจไปว่า เป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องรู้ว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามหลักเหตุและผลของกฎหมาย และประคับประคองสถานการณ์ให้เป็นไปตามโรดแม็ป โดยไม่ให้มีอะไรมากระทบกระเทือนทั้งสิ้น

วิธีการดังกล่าวจึงสะท้อนผ่านการแจ้งความเอาผิดกับกลุ่มนักศึกษาหรือแกนนำที่นัดชุมนุม แม้จะเป็นเรื่องย้อนแย้งกับการเดินหน้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย

การให้เจ้าหน้าที่รัฐติดตามความเคลื่อนไหวการชุมนุมทางการเมืองของทุกกลุ่มในห้วงเวลานี้อย่างใกล้ชิด ด้วยหวั่นว่าอาจเกิดกระแสเหมือนเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่แบบในอดีต

หรือหวาดกลัวกระทั่งว่าจะมีกลุ่มหัวรุนแรง หรือมีอาวุธสงครามทะลักเข้าไทย ก็เป็นความคิดที่แปลกอยู่มาก

เพราะในเหตุการณ์ปะทะทางการเมืองครั้งใหญ่ในอดีต ไม่ว่า 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ หรือพฤษภา 53 นั้นฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงเป็นหลัก ไม่ใช่ผู้ชุมนุม

ดังนั้นหากตั้งใจจะคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างจริงใจแล้ว ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ต้องกลัว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน