ถามว่าประเด็นอันเป็นความละเอียดอ่อนยิ่งในทางการเมืองต่อรัฐบาลและคสช.ในขณะนี้คืออะไร

คำตอบ คือความน่าเชื่อถือ

เหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง ดังที่มีบางคนในคสช.ในรัฐบาลออกมาพูด

“มันจะมีอะไรนักหนา”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประสบเข้ากับ ส.ค.ส.อันมาจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ว่าด้วย “กองหนุน”

เมื่อผนวกรวมกับความเรียกร้องต้องการจาก “คนอยากเลือก ฃตั้ง” เข้ามาอีก ณ บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน

จึงนำไปสู่ Start Up โดยอัตโนมัติ

ประเด็นความน่าเชื่อถือสัมพันธ์กับบทเพลงที่ว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

ของบรรดา “คนใจเพชร” อย่างเด่นชัด

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากสถานการณ์ “คว่ำ”ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อเดือนกันยายน 2558 อันมาพร้อมกับบทสรุป

“เขาอยากอยู่ยาว”

เพียงแต่เมื่อเดือนกันยายน 2558 กระทำผ่าน “สปช.”ขณะที่ในเดือนมกราคม 2561 กระทำผ่าน “สนช.”

โดยที่ “คสช.” ไม่ยอม “รับผิดชอบ”

ทั้งๆที่ไม่ว่าสปช. ไม่ว่าสนช.ล้วนเรียกขานกันตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า

“แม่น้ำ 5 สาย”

ความพยายามที่จะชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการยื้อ หน่วง และถ่วงการเลือกตั้งออก

จาก 2558 เป็น 2559 เป็น 2560

และจาก 2560 เป็น 2561 กระทั่งเป็น 2562

ผ่านการรับรู้ของประชาชนโดย”ปฏิญญา โตเกียว”โดย”ปฏิญญา นิวยอร์ค” โดย “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” แม้กระทั่งโดย

“ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล” ล้วนมาจาก “คสช.” โดย “คสช.”เพื่อ “คสช.”

ปมเงื่อนจึงรวมศูนย์ไปยัง “ความน่าเชื่อถือ”ต่อ “คสช.”ว่ามีมากน้อยเพียงใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน