การชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านที่ถึงขั้นอดอาหารเพื่อขอให้ประกาศยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ บริเวณด้านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ถนนราช ดำเนินนอก เป็นการสะท้อนปัญหาจากท้องถิ่นที่มาปรากฏในเมืองหลวง

เนื่องจากการตัดสินใจที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ

การกลับมาประท้วงครั้งนี้มีขึ้นหลังจากมี ชาวบ้านอีกกลุ่มยื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงานเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าช่วงต้นเดือนก.พ. ตรงกับความต้องการของส่วนกลาง

ฝ่ายเครือข่ายชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยจึงอาจหวาดหวั่นว่าเสียงของพวกตนอาจถูกมองข้าม

สําหรับท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อโครงการนี้คือประกาศว่าจะชะลอโครงการไปอีก 3 ปี แต่จะไม่หยุดกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ)

รวมถึงไม่หยุดกระบวนการอื่นๆ เช่น การขอใช้ที่ดินในที่สาธารณะ การเวนคืนที่ดินเกือบ 3,000 ไร่ที่จะใช้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า

เมื่อย้อนกลับไปดูกระบวนการทำอีเอชไอเอที่เคยมีปัญหา บวกกับการปูทางสำหรับการก่อสร้าง จึงทำให้ชาวบ้านฝ่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ไว้วางใจ

ด้วยเกรงว่าสุดท้ายแล้วจะเกิดการรวบรัดและใช้อำนาจส่วนกลางเข้าไปตัดสินชี้ขาด

แม้การที่รัฐบาลระบุว่าไม่ได้บังคับให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ต้องการให้ทุกคนโดยเฉพาะผู้ชุมนุมเปิดใจรับฟังเสียงของคนอื่นให้รัฐบาลศึกษารอบด้านก่อน เป็นคำชี้แจงที่ชัดเจน

แต่ก็ต้องเข้าใจเช่นกันว่าเหตุใดชาวบ้านจึงยังวิตกและไม่ไว้วางใจ

เนื่องจากเคยมีคำสัญญาและมีประกาศมากมายที่ยังไม่มีมาตรการหรือกลไกจากรัฐบาลให้ประชาชนทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจได้

กรณีนี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่การกล่าวอ้างเพียงว่าเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากแล้วไม่ควรใช้การอดอาหารมาทำให้สังคมเกิดความรู้สึกลังเลหรือขัดแย้ง

เพราะทุกวันนี้ยังมีวิธีและแนวคิดย้อนยุคและล้าหลังมากมายเกิดขึ้นในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน