อยู่นานไป ก็ใช่ว่าจะดี

สังคมการเมืองตั้งข้อสังเกตนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ประกาศเปิดตัวเป็น “นักการเมือง” เมื่อช่วงปีใหม่ 2561 เดือนมกราคม

ก็เจอ “งานเข้า” ไม่เว้นแต่ละวัน

และไม่เกี่ยวกับการปรากฏตัวพร้อมกันของนายทักษิณ กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สองพี่น้อง อดีตนายกฯ ที่เดินทางบินฉวัดเฉวียนไปทั่วโลก จากอังกฤษ มาจีน ไปญี่ปุ่น ต่อด้วยฮ่องกง

ขณะที่รัฐบาลคสช.ได้แต่มองตาปริบๆ ด้วยความมึนงง

ท่ามกลางกระแสดีดกลับจากเมื่อปี 2557 หลังการรัฐประหารใหม่ๆ

สภาพ “ท่านผู้นำ” ปัจจุบัน กำลังมีปัญหาเรื่อง “ความน่าเชื่อถือ” สืบเนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามโรดแม็ปที่ตนเองประกาศไว้ต่อสังคมไทยและสังคมโลก

ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับเป็นเรื่องธรรมดาที่การทำงานในปีท้ายๆ ของรัฐบาล จะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า “ขาลง” เป็นเรื่องปกติทุกยุค ทุกสมัย

ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามออกมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุอาการขาลงในรัฐบาลคสช.ว่า น่าจะเกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน

อย่างแรกก็คือความไม่โปร่งใส ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเป็นระยะๆ เกี่ยวกับโครงการต่างๆ เช่น

โครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ของกระทรวงกลาโหม การจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา ของกระทรวงแรงงาน โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การทุจริตในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมุษย์ เป็นต้น

รวมถึงบางเรื่องข้ามปีมาแล้ว ยังลามไม่หยุด

ล่าสุดลามเข้าไปถึงในครม. เมื่อ “หมอธี” นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เผลอทำ “ปืนลั่น” ใส่รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม

จนพล.อ.ประยุทธ์ต้องเรียกปิดห้องเคลียร์ใจ

ก่อนหมอธี จะเป็นฝ่ายออกมาขอโทษ ยอมรับตนเองเสียมารยาท พร้อมจะยังยืนยันอยู่ทำงานต่อไป ไม่ลาออกตามที่บางฝ่ายเรียกร้องขยายผลหวังเขย่าให้สะเทือนทั้งรัฐบาล

ปัจจัยถัดมาคือการสืบทอดอำนาจ

แต่เดิมพล.อ.ประยุทธ์นั้น แสดงตนอยู่ในสถานะ “กรรมการ” ในห้วงการเมืองเปลี่ยนผ่าน แต่เมื่อประกาศตัวเป็นนักการเมือง

เท่ากับลงมาเป็น “ผู้เล่น” เสียเอง

มีความพยายามใช้กลไกต่างๆ สร้างความได้เปรียบทางการเมือง จัดประชุมครม.สัญจรจังหวัดต่างๆ มีการพบปะแกนนำพรรค อดีตส.ส. และกลุ่มการเมืองในพื้นที่ทั้งแบบเปิดเผยและแบบลับๆ

ทั้งยังอนุมัติทุ่มเงินงบประมาณนับแสนล้านบาท ลงไปในโครงการที่เนื้อแท้ไม่มีอะไรต่างจากประชานิยม เพียงเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการไทยนิยมยั่งยืน

ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกล็อกแขน ล็อกขา ด้วยประกาศคำสั่งคสช.ที่อยู่เหนือกฎหมายพรรคการเมือง ห้ามเคลื่อนไหวไปอีกระยะหนึ่ง

รวมถึงปัจจัยการแก้ไขเศรษฐกิจปากท้องประชาชน ที่รัฐบาลโฆษณาว่าโดยรวมดีขึ้นอย่างไรก็ตาม แต่ความจริงที่สะท้อนผ่านการสำรวจโพล พบว่าประชาชนกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 78 ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ ค่าครองชีพพุ่งสูง และสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ

ถึงกระนั้นปัจจัยเรื่อง “ความเชื่อมั่น” กลับถูกมองว่าคือสาเหตุใหญ่

ไม่ว่าความเชื่อมั่นในการปฏิรูปประเทศทุกมิติ ความเชื่อมั่นในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ภายในประเทศ ที่ 4 ปีได้แปรเปลี่ยนเป็นความฝันเลื่อนลอย

โดยเฉพาะโรดแม็ปเลือกตั้งที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก

จากปี 2558 เป็นต้นปี 2559 จากปี 2559 เป็นกลางปี 2560 จากปี 2560 เป็นปลายปี 2561 และขยับอีกครั้งเป็นต้นปี 2562 ภายหลังสนช.เห็นชอบขยายเวลาบังคับใช้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ออกไปอีก 90 วัน

จุดชนวนม็อบอยากเลือกตั้งออกมาเคลื่อนไหว โดยไม่กลัวถูกดำเนินคดี

ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในตัวพล.อ.ประยุทธ์ลดลงตามไปด้วย

แน่นอนว่าพล.อ.ประยุทธ์ และแม่น้ำทุกสาย มีความจำเป็นต้องหยุดยั้งสภาวะ “ขาลง” ของรัฐบาลคสช.ให้ได้โดยเร็ว ก่อนทุกอย่างจะไหลไปไกล จนยากเยียวยา

โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการทำคลอดกฎหมายลูกหมวดเลือกตั้ง ที่ยังไม่รู้ลูกผีลูกคน ได้แก่ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.

ตามที่มีการท้วงติงเนื้อหาบางมาตรา จากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าอาจขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

จนต้องตั้งกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วม 3 ฝ่าย สนช. กรธ. และกกต.ขึ้นมาพิจารณาทบทวน ทำให้หลายคน เป็นห่วง

อาจนำไปสู่การ “คว่ำ” ร่างในที่สุด

ผลตามมาถือการ “ลากยาว” อำนาจออกไปอีก อย่างน้อย 6 เดือนถึง 2 ปี ตามการประเมินของฝ่ายพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตามหากดูจากสภาพรัฐบาลคสช.ตอนนี้

การใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อต่อเวลายื้ออำนาจออกไปอีก

น่าจะเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตขัดแย้งรอบใหม่ มากกว่าจะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย หรือได้รับการถือหางจากกองเชียร์เหมือนเมื่อ 2 ปีก่อนตอนกระแสคสช.

ยังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” แบบสุดๆ

การที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ยืนยันว่า ถึงจะมีการตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ขึ้นมาพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับก็จริง

แต่จะไม่นำไปสู่การ “คว่ำ” ในขั้นตอนสุดท้ายแน่นอน

แกนนำรัฐบาลและแกนนำสนช. อ้างว่า ที่ผ่านมามีการคำนวณไว้แล้ว หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นได้ปลายปี 2561 ตามที่นายกฯ เคยประกาศไว้

จนต่อมาสนช.แก้ไขร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายไปอีก 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้พรรคการเมืองเตรียมตัว

ทำให้โรดแม็ปเลือกตั้ง ต้องขยายไปถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ หรือเต็มที่ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2562

และจะเป็นไปตามนั้น ไม่เลื่อนอีกแล้ว

ในสถานการณ์ต้นทุนความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ปรับตัวลดต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี

แม้แต่อุบัติเหตุรถถอยชน “อ่างบัวแตก” กลางทำเนียบรัฐบาล วันตรุษจีน ก็ยังหวาดผวาว่าเป็นลางร้าย สอดรับกับเหตุการณ์รัฐมนตรี “ปีนเกลียว” รองนายกฯ

จนต้องมีคำสั่งติดตั้งประดับโคมเต็งลั้งเพื่อแก้เคล็ด อย่างน้อยก็น่าจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาจากสถานการณ์ตามที่โหรดังทำนาย ว่าอ่างแตกวันตรุษจีนเป็นสัญญาณ

อาเพศ ลางร้าย

ผู้ร่วมคณะรัฐบาลจะขัดแย้ง เกิดความไม่ไว้วางใจ หักหลังกัน อารมณ์ผู้นำและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองร้อนผิดปกติ เกิดการกลั่นแกล้ง ขัดแย้งทางความคิด

กลุ่มการเมืองต่างๆ ออกมาเดินต่อต้านมากขึ้น ทำให้ความขัดแย้งถึงขั้นรุนแรงมาก การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น ส่งผลด้านเศรษฐกิจตกต่ำถึงขั้นสุด จนอาจเกิดเหตุการณ์เหมือนปี 2540

สรุปแล้วสถานการณ์การเมืองช่วงนี้มีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะรัฐบาลคสช. มาถึง “ทางสองแพร่ง” ให้ต้องเลือกเดิน

จะเลือก “คว่ำ”ร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับเพื่ออยู่ยาวในอำนาจต่อไปแล้วเสี่ยงไปตายดาบหน้า

หรือเลือกที่จะส่งสัญญาณ “ผ่านฉลุย”เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นวิธีเดียวในการคลี่คลายปัญหาขัดแย้ง ทั้งหลายทั้งปวง

รัฐบาลจะเลือกทางใด คำตอบไม่ไกลเกินเดือนก.พ.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน