บทบรรณาธิการ

การเปิดตัวของกลุ่มแนวร่วมภาคประชาชนที่ประกาศชัดเจนว่าต้องการให้มีการเลือกตั้ง พร้อมนัดการชุมนุมในแต่ละสัปดาห์ ไปจนถึงกิจกรรมค้างคืนในเดือนพฤษภาคมเพื่อเป็นโรด แม็ปของการเคลื่อนไหวนั้น ถูกทักท้วงจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยทันที

มิใช่เรื่องที่อยู่นอกเหนือการคาดคะเนใดๆ

เพราะในขณะที่กลุ่มรณรงค์ขอเลือกตั้งยืนยันในการแสดงออกตามสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ คสช.ก็จะยืนกรานในเรื่องการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้มีอุปสรรคใดๆ เกิดขึ้น พร้อมชี้แจงซ้ำเดิมว่ากำลังดำเนินการไปสู่การเลือกตั้งอยู่แล้ว

ปัญหาอยู่ที่ข้อยืนกรานที่ว่า ต้องใช้ “ระยะเวลาหนึ่ง” ในรายละเอียดการปฏิบัติแล้วไม่ได้กำหนดเวลาที่ชัดเจน

คําว่า “ระยะเวลาหนึ่ง” ของกลุ่มประชาชนไม่มีทางจะเหมือนกันได้โดยธรรมชาติทางสังคม

1 นาทีในช่วงเวลาหนึ่งของบุคคลหนึ่งอาจเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก แต่อีกบุคคลเป็นเวลาที่กำลังดี ส่วนอีกบุคคลอาจเป็นเวลาที่ยาวนานเกินไป

ดังนั้น เรื่องของการเลือกตั้งไม่ใช่การโต้แย้งเพียงแค่ว่า “เลื่อนออกไป 90 วันจะเป็นอะไรนักหนา”

ในเมื่อโรดแม็ปสู่การเลือกตั้งทำให้ชาติพันธมิตรในโลกประชาธิปไตยอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาปรับเปลี่ยนท่าทีที่ดีขึ้นต่อรัฐบาลไทยเมื่อปี 2560

เกิดขึ้นหลังได้รับแจ้งเงื่อนไขเวลาที่ชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

เมื่อมาถึงช่วงเวลานี้ กำหนดเวลาดังกล่าวกลับแปรผันและไปสู่จุดที่ไม่แน่นอนอีกครั้ง ด้วยเงื่อนไขในการออกกฎหมายหรือปัจจัยประกอบอื่นๆ จึงทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคม

การเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อนจากผลกระทบในโครงการรัฐ ปัญหาปากท้อง หรือข้อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ล้วนเป็นเรื่องที่ควรแสดงออกได้อย่างเท่าเทียม

เพราะการเดินสู่โรดแม็ปฟื้นฟูประชาธิปไตยหมายถึงการปรับตัวเป็นประชาธิปไตยที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมและแสดงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้

กรณีของกำหนดช่วงเวลาการเลือกตั้ง ประชาชนควรได้คำอธิบายที่มากกว่า การพูดว่าจะเป็นอะไรนักหนา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน