ความกังวลของรัฐบาลและคสช.ต่อการที่นักศึกษาและประชาชนเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยโดยเฉพาะการเลือกตั้ง เริ่มสะท้อนไปถึงกลุ่มครูอาจารย์

อาจด้วยความหวังว่าจะให้ครูอาจารย์ช่วยอบรมควบคุมลูกศิษย์ ให้ยุติการสนับสนุนการเคลื่อนไหว

ทั้งที่เพิ่งมีตัวอย่างว่าข้อตกลงระหว่างรัฐกับชาวบ้านกรณีโรงไฟฟ้ากระบี่-เทพาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีการแสดงออกให้สังคมรับรู้ รับทราบถึงปัญหาและความคับข้องใจของคน ในพื้นที่

แต่ฝ่ายรัฐกลับให้ภาพของความหวาดวิตกว่าการแสดงออกของนิสิตนักศึกษาจะไปเหมือนต่างประเทศที่เมื่อเปลี่ยนแปลงแล้วจะเกิดความสูญเสียชีวิตเป็นแสนเป็นล้าน

อันเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดและอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด

ความสูญเสียชีวิตด้วยจำนวนคนมหาศาลดังกล่าว หากศึกษาประวัติศาสตร์อย่างจริงจังจะพบว่าไม่ได้มาจากประชาธิปไตย หรือการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

แต่มาจากการถูกกดขี่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และสงคราม

เป็นช่วงเวลาที่กลไกทางประชาธิปไตยขัดข้อง ขาดหาย เกิดความไม่เท่าเทียม เลือกปฏิบัติ เอารัดเอาเปรียบ ปิดกั้นการรับฟังเสียงประชาชน ไม่สามารถจัดการกับปัญหาอย่างสันติได้

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ ถกเถียงกันในสังคม รวมถึงในแวดวงวิชาการเพื่อให้ได้บทเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เพิ่งเผยแพร่คำอธิบายของการทำหน้าที่อาจารย์และนักวิชาการในระดับอุดมศึกษา ว่ามิได้ถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป แต่กระตุ้นและสนับสนุนให้นักศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง

ขณะที่นักวิชาการทำหน้าที่ผลิตความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาต่างๆ รวมถึงศักยภาพในการแก้ปัญหา

ดังนั้นการเรียกร้องของผู้ถือครองอำนาจให้ครูต้องสอนโดยไม่เอาแบบอย่างของต่างประเทศ เพราะเข้าใจไปว่าประชาชนยังไม่พร้อมนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระวัง

เพราะสะท้อนถึงการคิดคำนึงเอาเอง และเสี่ยงที่จะเป็นความไม่รู้แจ้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน