จากกรณีสหภาพยุโรป หรืออียู แสดงความห่วงใยและสอบถามถึงการเลือกตั้งว่าจะเป็นไปตามโรดแม็ปหรือไม่ รัฐบาลไทยแสดงปฏิกิริยาได้ทันทีว่าไม่วิตกกังวล พร้อมยืนยันจะเดินตามโรดแม็ปต่อไป

เพียงแต่โรดแม็ปนี้ยังคงต้องการความชัดเจน ว่าได้ปรับเข้าสู่แผนงานล่าสุด หรืออัพเดต ว่าอย่างไร

หลังจากช่วงเวลาการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อย 90 วัน นับจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเสียงข้างมากให้แก้ไขมาตรา 2 ของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จากนั้นสนช. มีมติไม่เห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 7 คน และต้องอาศัยกระบวนการสรรหาคัดเลือกใหม่อีกอย่างน้อย 6 เดือน

ล้วนเป็นความเคลื่อนไหวที่สั่นสะเทือนอยู่ในโรดแม็ป

ไม่เฉพาะสองเรื่องข้างต้นดังกล่าว คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ยังต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิก หลังจากมีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับการแบ่งกลุ่ม ส.ว. วิธีการเลือกส.ว. การแบ่งประเภทการสมัคร ส.ว. ที่มีนัดลงมติในเรื่องนี้ วันที่ 27 ก.พ.

ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ซึ่งกกต.เตรียมส่งร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา อีกทั้งยังมีกฎหมายอีก 5 ฉบับในหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สนช. พิจารณาได้ภายในต้นเดือนเมษายน

หากคำนวณตามกรอบเวลา บุคคลในรัฐบาลคาดการณ์ว่าจะเกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ภายในเดือนสิงหาคม

กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ควรปรากฏในโรดแม็ปที่ชี้แจงให้ประชาชนมองเห็นกำหนดเวลาและภาพของการใช้งานอย่างชัดเจน

เหมือนกับที่หน่วยงานทางเศรษฐกิจแสดงภาพโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น จะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเสร็จสิ้นเมื่อใด ใช้กฎหมายบังคับใช้ในเรื่องใดบ้าง โครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง มีกำหนดกี่สาย เริ่มเมื่อใดและเสร็จสิ้นเมื่อใด มีกำหนดเวลาคืนทุนได้เมื่อใด อย่างไร

หากปล่อยให้สถานการณ์อึมครึมกลายเป็นปมพันเกี่ยวกันยุ่งเหยิงโดยไม่แสดงโรดแม็ปที่ชัดเจนนั้น จะทำให้มองไม่เห็นอนาคตและความหวังที่จะเป็นผลดีกับประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน