บทบาทของนิสิตหญิงที่เปิดเผยข้อมูลการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นั้น ได้รับเสียงชื่นชมจากสังคมอย่างกว้างขวาง

เพราะทำให้เกิดการตรวจสอบครั้งใหญ่ แม้จะ ใช้เวลานานมากหลังการร้องเรียนและให้ข้อมูลกระบวนการผิดสังเกตดังกล่าวตั้งแต่ปีก่อน

ยิ่งในช่วงที่ประเทศไม่มีกลไกประชาธิปไตย ในการตรวจสอบมากนัก ความกล้าของนิสิตจึงมีความหมายเป็นพิเศษ

แต่รายงานที่เปิดเผยว่า มีอาจารย์ท่านหนึ่งตำหนินิสิตรายนี้ว่าสร้างความเดือดร้อนแก่คนส่วนใหญ่นั้น สร้างความไม่เข้าใจให้คนในสังคมอยู่มาก ทางกระทรวงศึกษาฯถึงขั้นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน

กรณีดังกล่าวไม่เพียงบ่งบอกถึงแนวคิดอันมีปัญหาของอาจารย์ในฐานะปัจเจกบุคคล ยังสะท้อนความคิดอำนาจนิยมในระบบการศึกษาของไทยด้วย

เนื่องจากมีครูอาจารย์จำนวนหนึ่งที่มีความเชื่อว่าสามารถสั่งการลูกศิษย์ได้ นอกเหนือไปจากการสั่งสอนให้วิชาความรู้

ความพยายามของผู้บริหารสถาบันการศึกษา รวมถึงครูอาจารย์ส่วนหนึ่งที่จะควบคุม ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกของนักเรียนนิสิตนักศึกษานั้น ปรากฏเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง

เพราะการยึดติดกับอำนาจนิยมในการควบคุมเยาวชนด้วยข้ออ้างรักษาความสงบเรียบร้อย หลีกหนีจากการเผชิญหน้า แม้จะเป็นความจริงก็ตาม

ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะต้องให้ผู้มีอำนาจเหนือกว่าครูอาจารย์อีกชั้นมาคอยสะสางสอบสวน หรือกล่าวชื่นชมให้กำลังใจนิสิตที่ทำความดี

แต่เป็นเรื่องของทัศนคติและค่านิยมในการ สร้างครูอาจารย์ที่รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง ไม่ฉวยใช้อำนาจด้วยสถานะทางอาชีพที่ผู้คนเคารพนับถือ

หากทำเช่นนั้น ไม่เพียงต่อต้านการส่งเสริมความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ยังจะไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความศรัทธาและความเคารพที่ลูกศิษย์พึงมีให้ครูอาจารย์

การอบรมบ่มเพาะให้ลูกศิษย์อ่อนน้อม เคารพผู้ใหญ่ ไม่ใช่ข้ออ้างสำหรับการหลีกหนีความจริงและการตรวจสอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน